ท่องเที่ยวเป็นอีก “เครื่องยนต์” เคลื่อนเศรษฐกิจไทย แต่วิกฤติโควิด ทุบอุตสาหกรรมจนน่วม การฟื้นตัวยังยาก ตราบที่โรคระบาดยังไม่คลี่คลาย แต่ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” เป็นโมเดลความหวังลองเปิดรับนักท่องเที่ยว ก่อนเปิดประเทศ
ศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร รองผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ฉายภาพโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ช่วง 28 วัน มีการเก็บข้อมูลรอบด้านทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวกว่า 12,000 คน จากตัวเลขนักท่องเที่ยวเดินทางมาไทยแล้วกว่า 34,000 ราย สะท้อนว่าภูเก็ตช่วยกอบกู้การท่องเที่ยวได้เกือบ “กึ่งหนึ่ง” ของภาพรวม แม้ว่าในพื้นที่จะมีตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 บ้าง แต่สถานการณ์ด้านสาธารณสุข ที่ยังมีเตียงว่างราว 70% และการท่องเที่ยวทุกภาคส่วนพยายามสื่อสารทำความเข้าใจกับตลาดถึงสถานการณ์เท็จจริงอย่างใกล้ชิด
ในอดีตไทยดื่มด่ำตัวเลขนักท่องเที่ยวร่วม 40 ล้านคน/ปี แต่โลกวิถีปกติใหม่ ต้องปรับ เพราะพฤติกรรมนักเดินทางเปลี่ยนไปแล้ว ทั้งการจัด จองทริป ไม่ได้วางแผนยาวๆ แต่เกิดขึ้นแบบเรียลไทม์ เนื่องจากมีตัวแปร ทั้งนโยบายรัฐ การเตือน แจ้งเกี่ยวกับตัวเลขผู้ติดเชื้อในประเทศต่างๆ จุดหมายปลายทาง โรงแรมที่พัก มีผู้คนได้รับวัคซีนมากน้อย เป็นต้น
ทั้งนี้ การลุยต่อฟื้นการท่องเที่ยวระยะสั้น ต้องโฟกัสการแพร่ระบาด สร้างความมั่นใจให้คนในพื้นที่ ลดการตื่นตระหนกให้นักท่องเที่ยว ด้าน ททท.มุ่งทำตลาดเชิงรุกผ่านสำนักงาน 29 ประเทศ ชูการท่องเที่ยวเป็นเกาะ มีการบริหารจัดการไวรัส การติดเชื้อต่ำ มีการขจัดปัญหา(Pain point)ที่เคยสร้างผลกระทบต่อนักท่องเที่ยว ฯ
ส่วนระยะยาวต้องให้น้ำหนัก 4D ได้แก่ Demand ฟังความต้องการของนักท่องเที่ยวอย่างแท้จริง การจองล่วงหน้าไม่กี่วัน การเช็คอินที่เร็วขึ้น เพราะต้องตรวจหาเชื้อไวรัส Data ข้อมูลเป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจ แต่ละประเทศมีเงื่อนไขการเดินทาง กักตัวนักเดินทางชาติตนเองอย่างไรต้องรู้ เพื่อทำตลาดได้แม่นยำ Digital เมื่อดิจิทัลมีอิทธิพล นักท่องเที่ยวลดใช้เงินสด และ Domestic การพึ่งพานักเดินทางเที่ยวในประเทศ กุญแจสำคัญฟื้นธุรกิจ เช่น จีน ปัจจุบันสถิตินักท่องเที่ยวเดินทางในประเทศมากเท่ากับปี 2562 และพฤติกรรมการเที่ยวนานขึ้น ไปมาเก๊า 5 วัน จากเดิมพัก 1-2 วันเท่านั้น
ภูมิกิตติ์ รักแต่งาม นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า เศรษฐกิจภูเก็ตพึ่งพาการท่องเที่ยวถึง 95% จึงต้องมีโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์เกิดขึ้น ซึ่งตลอด 29 วัน ทำให้เห็นว่ายังมีหยดน้ำหล่อเลี้ยงอุตสาหกรรม
ส่วนระยะยาวการฟื้นเศรษฐกิจภูเก็ต ต้องไม่ยึดติดกับท่องเที่ยวเท่านั้น ควรสร้างเครื่องยนต์ใหม่ เช่น การท่องเที่ยวเชิงกีฬา การศึกษา สมาร์ทซิตี้ฯ โดยเสนอต่อนายกรัฐมนตรี และสำนักงานเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)พิจารณาแล้ว แต่ความท้าทาย ยังเป็นเรื่อง “งบประมาณ” ที่ต้องนำมาดูแล 3 ด้าน ได้แก่ การท่องเที่ยว การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่ง สิ่งแวดล้อม
“ก่อนมองระยะยาว ต้องเอาตัวรอดปัจจุบันก่อน หากติดหล่มการจัดการโรคระบาด อนาคตคงเป็นแค่ฝัน”
ธีรพล โชติชนาภิบาล ประธานเจ้าหน้าที่สายการพาณิชย์ บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การระบาดของโรคโควิดที่ยาวนานเป็นสิ่งที่ไม่คาดคิด และกระทบธุรกิจอย่างมาก แต่เชื่อว่าเกิดขึ้นชั่วคราวเท่านั้น การปรับตัวให้รอดระยะสั้น บริษัทได้โยกการบินไปอยู่ที่อู่ตะเภา ปิดบริการที่ดอนเมือง และมีการปรับเที่ยวบินให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค และเมื่อประกาศบิน จะต้องทำให้ได้ตามที่ให้คำมั่นไว้
ระยะยาว การฟื้นธุรกิจจะมุ่งทำตลาดกับแฟนพันธุ์แท้นกแอร์มากขึ้น โดยทุก 100 คนที่บินเป็นฐานแฟน 25-26 คน และทุก 100 บาทที่ใช้จ่าย มาจากแฟนตัวจริงกว่า 30 บาท บริษัทจึงมุ่งมั่นยกระดับบริการเพื่อตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ถือเป็นจุดเริ่มต้นเสมือนจรวดแห่งความหวังที่รองรับนักท่องเที่ยว ตลาดเดินทางที่จะกลับมาในอนาคต แต่การจะนำโมเดลนี้ไปใช้กับพื้นที่อื่นต้องปรับให้เข้ากับบริบทในแต่ละพื้นที่ อย่าลอกเลียนแบบ โดยจะต้องมีการพูดคุยกับภาคประชาสังคมให้เข้ามามีส่วนร่วมเพื่อเข้าใจแนวทางและความเสี่ยงที่จะเกิด นอกจากนี้ต้องมีการสนับสนุนเรื่องการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชาชนในพื้นที่เพื่อเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ เพื่อสร้างความมั่นใจกับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในพื้นที่เช่นเดียวกับภูเก็ต ไม่ว่าจะเป็นสมุย กระบี่ หัวหิน พัทยา หรือเชียงใหม่
และควรกำหนดขอบเขตพื้นที่ในการเปิดรับที่ชัดเจน และสิ่งสำคัญคือการแก้ระบบ กฎระเบียบ กติกาที่เป็นปัญหาคอขวดในการทำธุรกิจหรือบริการแก่กลุ่มนักท่องเที่ยวที่เข้ามา ซึ่งอาจไม่เฉพาะธุรกิจการท่องเที่ยวเท่านั้น ถือเป็นช่วงเวลาที่สำคัญในการยกเลิกกติกาที่เป็นภาระ เช่น ค่าธรรมเนียมต่างๆ รวมถึงมาตรการทางด้านการเงินที่ช่วยผู้ประกอบการให้สามารถเดินต่อไปได้
พัลลภ แซ่จิว ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า แนวทางการทำเชียงใหม่แซนด์บ็อกซ์ แตกต่างจากภูเก็ต เป็น “กลุ่มเป้าหมายเฉพาะ” เริ่มจาก “แซนด์บ็อกซ์กอล์ฟ” เป็นมินิบ็อกซ์ หรือจะเรียกว่า Seal Route ลงสนามบิน เข้าที่พักในสนามกอล์ฟและมีบริการต่างๆ หากไปเที่ยวข้างนอกก็ซีลเส้นทางไม่ไปเสี่ยงให้กับประชาชนในพื้นที่ โดยใช้ 4 อำเภอนำร่อง คือ อ.เมือง แม่ริม แม่แตง และ ดอยเต่า ผ่านบริษัททัวร์เท่านั้น และจะควบคุมการเดินทาง-การพักอาศัยแบบ Bubble And Seal ส่วนที่พักหรือสถานประกอบการที่นักท่องเที่ยวจะเข้าไปใช้บริการจะต้องผ่าน การรับรองมาตรฐานระดับ SHA Plus+
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/951803