ทุกคนมีสิทธิได้รับการศึกษาที่มีการปรับเฉพาะบุคคล รายงานของสถาบัน MGIEP ภายใต้องค์การยูเนสโกชี้
งานวิจัยระดับโลกชิ้นใหม่เสนอให้ผู้กำหนดนโยบายประเมินระบบการศึกษาใหม่
รัฐบาล ผู้กำหนดนโยบายด้านการศึกษา และผู้มีอำนาจตัดสินใจระดับสูงจำเป็นต้องตระหนักว่าการศึกษาเฉพาะบุคคล (Personalised education) เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานและสิทธิมนุษยชนสำหรับผู้เรียนทุกคน ตามรายงานฉบับใหม่ของสถาบันการศึกษาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาอย่างยังยืนมหาตมะ คานธี (Mahatma Gandhi Institute of Education for Peace and Sustainable Development - MGIEP) ภายใต้องค์การยูเนสโก (UNESCO) รายงานดังกล่าวนี้มีชื่อว่า "จินตนาการถึงการศึกษาแบบใหม่" (Reimagining Education) โดยได้เผยแพร่ในวันนี้
รายงานการประเมินด้านการศึกษาโดยยึดหลักวิทยาศาสตร์และหลักฐานระดับนานาชาติ (International Science and Evidence Based Education Assessment - ISEE) ซึ่งเป็นรายงานระดับโลกสนับสนุนการศึกษาที่ใช้แนวทางการเรียนรู้แบบมุ่งเน้นความรู้คิดและอารมณ์ พร้อมทั้งเสนอให้การกำหนดนโยบายด้านการศึกษาในอนาคตเป็นไปโดยยึดหลักวิทยาศาสตร์และหลักฐาน
การประเมินดังกล่าวนี้ ซึ่งเริ่มขึ้นในปี 2562 ในเมืองมอนทรีออลและขณะนี้ดำเนินการมาแล้วเป็นเวลาสองปี ได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญกว่า 300 คนจาก 45 ประเทศ โดยใช้ข้อมูลจากกระบวนการปรึกษาหารือระดับโลกกับนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในหลากหลายสาขาวิชา อย่างเช่น ประสาทวิทยาศาสตร์, เทคโนโลยี, การศึกษา, ปรัชญา, ข้อมูลและหลักฐาน และความยั่งยืน
จินตนาการถึงการศึกษาแบบใหม่หลังจากผลกระทบของวิกฤตโควิด-19
รายงานดังกล่าวนี้ซึ่งเผยแพร่ที่สำนักงานใหญ่องค์การยูเนสโกในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เกิดขึ้นในขณะที่โลกกำลังรับมือกับผลกระทบจากวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ซึ่งส่งผลเสียต่อโอกาสในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) นอกจากนี้ ความก้าวหน้าของการศึกษาตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมายังถูกบั่นทอนอยู่บ่อยครั้งจากความขัดแย้งต่าง ๆ โดยรายงานพบว่ากว่าหนึ่งในสาม (37%) ของผู้ลี้ภัยที่เป็นเด็กวัยประถมไม่ได้รับการศึกษาในโรงเรียน และมีเพียง 24% ที่เข้าถึงการศึกษาระดับมัธยม ขณะที่การเข้าถึงการศึกษาระดับอุดมศึกษาในกลุ่มประชากรผู้อพยพอยู่ในระดับต่ำมากเพียง 3% เท่านั้น
การประเมินครั้งนี้มีส่วนช่วยในการสร้างจินตนาการใหม่เกี่ยวกับอนาคตของการศึกษาเพื่อสร้างระบบการศึกษาที่มั่นคงยืดหยุ่นและยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งสามารถผ่านพ้นวิกฤตในปัจจุบันได้
เซอร์คีแวน คอลลินส์ (Sir Kevan Collins) ประธานกองทุนเพื่อเยาวชน (Youth Endowment Fund) ในสหราชอาณาจักร และสมาชิกคณะที่ปรึกษาของรายงานการประเมิน ISEE กล่าวว่า "การประเมิน ISEE เป็นการศึกษาใหม่ที่มีส่วนช่วยในการทำงานของเราเพื่อจินตนาการถึงการศึกษาในรูปแบบใหม่ เราได้ใช้แนวทางแบบสหวิทยาการในการรวบรวมสิ่งที่ดีที่สุดในสิ่งที่เรารู้ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการทำงานของเราครอบคลุมโอกาสที่หลากหลายสำหรับเด็ก ๆ ในการทำงานครั้งนี้ เราได้เรียนรู้ว่าอนาคตเป็นของผู้ที่เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และรูปแบบการเรียนการสอนที่ยึดกระบวนการคิดแบบมีส่วนร่วมที่เรียกว่า 'whole brain' เป็นศูนย์กลางนั้นเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ถ้าหากว่าเรายังต้องการสนับสนุนการศึกษา ตลอดจนสร้างสังคมที่เจริญรุ่งเรืองด้วย อนาคตที่เฟื่องฟูและยั่งยืนสำหรับโลกของเราขึ้นอยู่กับคุณภาพของการศึกษาที่เด็กๆของเราทุกคนได้รับ เราต้องมุ่งสานต่อการถกเถียงแลกเปลี่ยนที่การประเมินนี้จุดประกายขึ้น ให้ยังคงมีการดำเนินต่อไป"
การศึกษาเฉพาะบุคคลเป็นสิทธิมนุษยชน
รายงานนี้สนับสนุนให้รัฐบาลตระหนักว่าการศึกษาเฉพาะบุคคลสำหรับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเป็นสิทธิมนุษยชนสำหรับผู้เรียนทุกคน และเรียกร้องให้มีการลงทุนด้านการศึกษาเพิ่มขึ้น ซึ่งจะต้องมุ่งเน้นแนวทางการศึกษาแบบมุ่งเน้นการรู้คิด อารมณ์ และกระบวนการคิดแบบ whole brain
รับชมงานเปิดตัวออนไลน์ของการประเมิน ISEE ณ สำนักงานใหญ่ขององค์การยูเนสโกในปารีส ระหว่างเวลา 10.00 - 12.00 น. (CET) ในวันอังคารที่ 22 มีนาคม ได้ที่ https://mgiep.unesco.org/iseea-report-launch ภายในลิงก์ดังกล่าวนี้ยังมีรายละเอียดการเข้าร่วมวงอภิปรายออนไลน์ในงานดูไบเอ็กซ์โป (Dubai Expo) ระหว่างเวลา 10.00 - 12.00 น. (GST) ในวันศุกร์ที่ 25 มีนาคม ซึ่งคณะผู้เชี่ยวชาญจะหารือเกี่ยวกับข้อค้นพบของการประเมินครั้งนี้
ดาวน์โหลดรายงานการประเมิน ISEE ฉบับสมบูรณ์ได้ที่ https://mgiep.unesco.org/iseeaweb