คลิกที่นี่เพื่อดู infographic ขนาดใหญ่


ผลการศึกษาวิจัยล่าสุดของเรา แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่เสื้อผ้าที่คุณกำลังสวมใส่อยู่นั้นอาจมีสารเคมีอันตราย อย่างเช่น nonylphenol ethoxylates (NPEs) ปนเปื้อนอยู่ และจะแตกตัวเป็น โนนิลฟีนอล (Nonylphenol หรือ NP) ซึ่งเป็นสารพิษที่ตกค้างยาวนานในห่วงโซ่อาหาร มีคุณสมบัติรบกวนระบบฮอร์โมนซึ่งกรีนพีซได้ตรวจพบสารดังกล่าวอยู่ในเสื้อผ้าตัวอย่างส่วนใหญ่ คือ 52 ชิ้นจาก 78 ชิ้น ที่จาก 14 ยี่ห้อดังของโลก รวมถึงจากอาดิดาส โดยตัวอย่างที่ตรวจพบสารดังกล่าวนั้น มี 4 ตัวอย่างที่นำมาจากร้านตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทยซึ่งพบการปนเปื้อนทั้งหมด และมีทั้งหมด 6 ตัวอย่างที่ระบุว่าผลิตในประเทศไทยซึ่งมี 5 ตัวอย่างที่พบการปนเปื้อน
ทั้งนี้ผลศึกษาได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาระดับโลกที่เชื่อมโยงยี่ห้อเสื้อผ้าดังกับการปล่อยมลพิษจากโรงงานที่เป็นแหล่งผลิต และสุดท้ายคือสารพิษที่พบในเสื้อผ้าที่วางขายในท้องตลาดสำหรับผู้บริโภค
ปัจจุบันการใช้สารเคมีอันตรายในอุตสาหกรรมสิ่งทอเป็นปัญหาใหญ่ที่ขยายวงกว้างไปทั่วโลก ซึ่งต้องอาศัยบริษัทเจ้าของยี่ห้อเสื้อผ้าดังๆ ระดับโลกที่จะต้องร่วมกันรับผิดชอบ ก้าวเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง คิดนวัตกรรมต่างๆ เพื่อนำอุตสาหกรรมฟอกย้อมไปสู่อุตสาหกรรมปลอดสารพิษ หลักฐานที่พบน่าจะเพียงพอที่จะยืนยันถึงปัญหาของการใช้สารเคมีอันตรายที่จะทำลายแหล่งน้ำและส่งผลกระทบต่อมนุษย์
ผลการทดสอบบอกอะไรบ้าง
หากไม่มีการดำเนินการใดๆเพื่อหยุดยั้งการใช้สารเคมีเหล่านี้ ยี่ห้อชั้นนำของโลกอย่างอาดิดาส ก็จะยังคงปล่อยให้ผู้บริโภคทำการซักล้างที่สกปรกต่อไป
ทุกครั้งที่ทำการซักล้างเสื้อผ้าที่มีสารเคมีเหล่านี้ สารพิษเหล่านี้ก็จะถูกชะล้างออกมาและปล่อยลงไปในแหล่งน้ำทั่วโลก
ผลการวิเคราะห์ยืนยันว่าการใช้สารเคมีอันตรายในกระบวนการผลิตไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะเสื้อผ้าที่ผลิตจากประเทศจีนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงผลิตภัณฑ์ของยี่ห้อเหล่านี้ที่ผลิตจากประเทศอื่นๆด้วยจึงเป็นการชี้ให้เห็นว่าปัญหานี้เป็นประเด็นระดับโลกที่เชื่อมโยงยี่ห้อเสื้อผ้าดังๆ กับการปล่อยมลพิษจากโรงงานที่เป็นแหล่งผลิต และสุดท้ายคือสารพิษที่พบในเสื้อผ้าที่วางขายในท้องตลาดสำหรับผู้บริโภค
บริษัทดังๆ เหล่านี้ทำให้ผู้บริโภคมีส่วนในการก่อมลพิษด้วยการปล่อยสารโนนิลฟีนอลอีทอก ซิเลท (NPEs) สู่สิ่งแวดล้อมและแหล่งน้ำในประเทศที่ตนเองอาศัยอยู่โดยไม่รู้ตัว เพราะการซักเสื้อผ้าที่ปนเปื้อนสารดังกล่าวเป็นการปล่อยสารซึ่งตกค้างเหลืออยู่ในเสื้อผ้าลงสู่ท่อระบายน้ำ และลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติในที่สุด แม้จะตรวจพบสารโนนิลฟีนอลอีทอกซิเลท (NPEs) ในผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าตัวอย่างในระดับปริมาณที่น้อย แต่หากคิดถึงเสื้อผ้าปริมาณมหาศาลที่ซื้อ-ขายกันอยู่ทุกวันนี้และในที่สุดจะต้องถูกซักล้าง จึงหมายถึงปริมาณสารพิษทั้งหมดที่ถูกปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมนั้นมีนัยยะสำคัญ
ทั้งไนกี้ และ พูมา เข้าร่วมแล้ว แต่อาดิดาสล่ะ?
ต้องขอบคุณการรณรงค์หยุดสารพิษและความร่วมมือและการสนับสนุนอันดียิ่งจากท่านที่ทำให้ทั้งไนกี้และพูมา (ยี่ห้อชุดกีฬาอันดับหนึ่งและสามของโลก ตามลำดับ) ได้ให้คำมั่นสัญญาในการยุติการปลดปล่อยสารเคมีอันตรายตลอดห่วงโซ่การผลิตและสารเคมีอันตรายที่ใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ภายในปี พ.ศ. 2563
ถึงเวลาแล้วที่อาดิดาสต้องพิสูจน์ความเป็นผู้นำ

อาดิดาสจะต้องตามให้ทันคู่แข่งกัน และต้องเข้าร่วมแข่งขันในสนามนี้ด้วย โดยต้องมีความมุ่งมั่นสู่การปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (zero discharge) และสร้างวัฒนธรรมใหม่ด้านความโปร่งใสให้เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมสิ่งทอ
และหากต้องการเป็นผู้นำที่แท้จริง ต้องเปลี่ยนคำพูดให้กลายเป็นการกระทำ
และแสดงให้เราเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจริงๆ ในโรงงานในประเทศต่างๆ ซึ่งมลพิษทางน้ำกำลังเป็นปัญหาเร่งด่วนทั้งต่อมนุษย์และสัตว์
โลกเราต้องการผู้นำ
อาดิดาสจะ “เข้าร่วม” มุ่งมั่นสู่อนาคตที่ปลอดสารพิษ หรือไม่ หรือจะปล่อยให้เป็น พูมา ไนกี้ และบริษัทอื่นๆ ดำเนินการและรับผิดชอบแทน