ปรองดองหรือแตกแยก 

โดย...โกวิทย์ พวงงาม คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผมเข้าใจว่า ประเด็นการ “ปรองดอง” หรืออาจเรียกว่า “การปรองดองแห่งชาติ” ซึ่งได้ถูกหยิบยกเพื่อนำมาพูดเป็นเรื่องสำคัญของชาติ โดยส่วนใหญ่เป็นการพูดในหมู่นักการเมือง ทั้งของผู้ที่เคยมีอำนาจและผู้ที่เคยสูญเสียอำนาจที่ต้องการให้เป็นกระแสวาระ “การปรองดองแห่งชาติ” ซึ่งเห็นว่าส่วนใหญ่มักวนเวียนเกี่ยวข้องกับเรื่องของผลประโยชน์นักการเมืองเป็นส่วนใหญ่ 
จึงเห็นว่าการปรองดองเป็นเรื่องของกลุ่มการเมืองที่วนเวียนอยู่กับกลุ่มอำนาจต่างๆ ทั้งที่เคยกุมอำนาจรัฐและสูญเสียอำนาจรัฐไปแล้ว มีความขัดแย้งซึ่งกันและกัน ทั้งในเรื่องของการหาผลประโยชน์ทรัพยากรของชาติมาเป็นผลประโยชน์ของตน และก่อให้เกิดความขัดแย้ง การขุดคุ้ยในประเด็นคอร์รัปชัน รวมทั้งการก่อกวนความวุ่นวายทางการเมือง จนเกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน
จึงกลายเป็นว่าความขัดแย้ง ความแตกแยกของกลุ่มอำนาจทางการเมืองที่มีความไม่ชอบมาพากล จะนำมาสู่การนำเสนอเรื่องการปรองดองนั้น ก็มีแนวทางที่เป็นไปไม่ได้ ที่สำคัญกลุ่มการเมืองในปัจจุบันมักจะแบ่งแยกออกเป็นขั้วขัดแย้งทางการเมืองอย่างชัดเจนโดยขาดเหตุและผล
นอกจากนั้นสิ่งที่น่ากลัวก็คือ การเอาผลประโยชน์ของตัวเองเป็นตัวตั้งมากกว่าผลประโยชน์ของชาติ รวมถึงการสร้างกลุ่มมวลชนขึ้นมาของกลุ่มการเมืองที่ต่อสู้กัน เพื่อแย่งชิงอำนาจให้มีการคุกคามสร้างความรุนแรงเพื่อรักษาผลประโยชน์เชิงอำนาจนั้น ก็จะยิ่งสร้างความขัดแย้งและความแตกแยก
ผมจึงมองไม่เห็นทางว่า การปรองดองจะเกิดขึ้นได้ ถ้านักการเมืองไม่คำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติ เป้าหมายของชาติ และที่น่าเป็นห่วงก็คือ เวลาเรากล่าวถึงการปรองดอง มักจะมีวิธีคิดกันเพียงว่า การเริ่มต้นก็ต้องให้ประโยชน์แก่นักการเมืองที่เป็นผู้ขัดแย้ง เป็นต้นว่าเริ่มต้นการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม พ.ร.บ.ล้างมลทิน การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อนิรโทษกรรมคดีทั้งหมดให้แก่ฝ่ายการเมือง จนบางครั้งทำให้เห็นว่ารัฐบาลจมปลักอยู่กับวังวนทางการเมือง แต่ก็ไม่หลุดพ้นจากความคิดที่เป็นประโยชน์แก่นักการเมือง ความปรองดองคงเป็นไปได้ยาก ถ้ายังมีกรณี ดังต่อไปนี้ กรณีที่ 1 มีข่าวคราวความพยายามอยู่ตลอดเวลาของฝ่ายการเมือง นักการเมืองโดยเฉพาะรัฐบาลและนักการเมืองที่เป็น สส. พรรคเพื่อไทยที่จะนำเสนอ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แต่มีหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าจะเป็นการช่วยอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร หรือไม่
กรณีที่ 2 มีข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากกรณีที่มีการเผาบ้านเผาเมืองของบางกลุ่ม และในเวลาต่อมามีการกล่าวโทษกันไปกันมาว่ากลุ่มใดเป็นต้นเหตุ โดยเฉพาะเหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่ม นปช.และกลุ่มคนเสื้อแดง ปี พ.ศ. 2553 ที่เกิดการเผาบ้านเผาเมืองขึ้น
กรณีที่ 3 มีคำพิพากษาของศาลยุติธรรม จากกรณีบุกเผาศาลากลางจังหวัดมุกดาหาร และจังหวัดอุบลราชธานี ผู้กระทำความผิดถูกศาลตัดสินลงโทษให้จำคุกเป็นเวลา 20 ปี และ 22 ปี ตามลำดับ ส่วนผู้ที่เป็นผู้ต้องหาเผาห้างเซ็นทรัลเวิลด์ ราชประสงค์ และธุรกิจบริเวณย่านสยามสแควร์ กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งคดีต่างๆ เหล่านี้ที่ตัดสินไปแล้วและกำลังจะตัดสินจะเป็นการช่วยยืนยันว่าการเผาบ้านเผาเมืองนั้นมีจริง
กรณีที่ 4 นอกจากนี้ การที่หลายฝ่ายกังวลการละเมิดสถาบัน ซึ่งมีกลุ่มบุคคลบางกลุ่มล่วงละเมิดนั้น ศาลได้มีคำพิพากษาสั่งจำคุกบุคคลที่ล่วงละเมิดสถาบันไปแล้วหลายราย ซึ่งล่าสุดศาลสั่งจำคุก “ดาตอร์ปิโด” น.ส.ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล เป็นเวลา 15 ปี
กรณีที่ 5 ยังมีผู้ต้องหาอีกหลายรายที่ถูกจับกุมกำลังอยู่ในขั้นการพิจารณาของศาล และมีบุคคลบางส่วนยังหลบหนีการจับกุมอยู่อีก ทั้งคดีการทำลายทรัพย์สินของราชการบุกรุกสถานที่ประชุม และการเข้าข่ายการก่อการร้าย กำลังมีคำถามว่า คนกลุ่มนี้จะได้รับอภิสิทธิ์ในการคุมขังเหนือกว่าบุคคลอื่นหรือไม่
ผมเข้าใจว่า เรื่องของความปรองดองคงมิใช่เป็นเรื่องของการหาผลประโยชน์ให้กับนักการเมือง หรือกลุ่มการเมืองคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นการเมืองของประชาชนทั้งประเทศ คำถามตอนนี้คือ การปรองดองเพื่อผลประโยชน์ของใคร ?http://www.posttoday.com/%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%B0%E0%B8%AB%E0%B9%8C/%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%A8%E0%B8%A9/128026/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%94%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B9%81%E0%B8%95%E0%B8%81%E0%B9%81%E0%B8%A2%E0%B8%81




