ในสายตาคนเอเชียด้วยกัน รวมถึงบ้านเราเอง ล้วนแล้วแต่ได้รับอิทธิพลด้านวัฒนธรรมการกินอยู่แบบจีนแทรกซึมอยู่เกือบทุกหัวระแหง ยิ่งได้สัมผัสศาสตร์การดูแลตัวเองที่สั่งสมและส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นมานานนับพันปีแบบจีนด้วยตัวเองแล้ว ยิ่งได้เห็นความมหัศจรรย์
หลักการใหญ่ๆ ในเรื่องสุขภาพ ตลอดจนสิ่งละอันพันละน้อยล้วนเป็นเรื่องใกล้ตัวที่สัมพันธ์กับปรัชญาการดำเนินชีวิตให้สมดุลในแบบของชาวตะวันออกอย่างเราๆ ทั้งสิ้น เรื่องกินเรื่องใหญ่...จุดเริ่มต้นความแข็งแรง
• การกินตามหยินหยาง เมื่อพูดถึงการดูแลสุขภาพตามศาสตร์จีน สิ่งแรกที่ทุกคนมักคิดถึงคือหลักของความสมดุลที่เรียกว่า หยินหยาง แพทย์หญิงศรันยา กตัญญูวงศ์ แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป ด้านฝังเข็มและยาสมุนไพรจีนจากชีวจิตโฮม อธิบายการกินของคนจีนตามหลักหยินหยางอย่างละเอียดว่า
“คนจีนเน้นเรื่องความสมดุลหยินหยาง กล่าวคือ ปกติคนเราต้องมีหยินและหยางเท่ากัน หากอย่างใดอย่างหนึ่งมากหรือน้อยไปจะเกิดโรค ในการกินอาหารจึงต้องสังเกตว่าสภาพร่างกายของตัวเองร้อนหรือเย็น เช่น ถ้าตัวร้อนจะกินของเย็นคืออาหารที่เป็นหยิน แต่ถ้าร่างกายเย็นให้กินของร้อนคืออาหารที่เป็นหยางเพื่อปรับสมดุล
แพทย์หญิงสุลัคนา น้อยประเสริฐ แพทย์เฉพาะทางฝังเข็ม โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย อธิบายเสริมเกี่ยวกับอาการที่พบบ่อยเมื่อหยินหยางไม่สมดุลว่า หยินพร่อง หรือหยินน้อย คือสารที่เป็นน้ำในร่างกายน้อย ซึ่งทำให้มีอาการคล้ายคนขาดน้ำ คือ ร้อนใน ปากแห้ง คอแห้ง โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ขี้หงุดหงิด ผิวแห้งเหี่ยว ฝ่ามือและฝ่าเท้าร้อน อาการคล้ายคนวัยทอง การกินเยียวยาอาการหยินพร่อง แนะนำให้กินผักและผลไม้ที่มีน้ำเยอะ เช่น สาลี่ แครอท หัวไช้เท้า เก็กฮวย หล่อฮั่งก้วย จับเลี้ยง กินผักมากๆ งดของเผ็ด เพราะรสเผ็ดทำให้มีการขับน้ำออกจากร่างกายมากขึ้น ทำให้ภายในร่างกายแห้ง
หยางพร่อง เกิดจากความอบอุ่นหรือไฟในร่างกายน้อยลง ข้างในจึงเย็น มีอาการฝ่ามือฝ่าเท้าเย็น หนาวง่าย ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน หน้าตาซีดเซียว ควรงดผลไม้ โดยเฉพาะในมื้อเย็น เนื่องจากเวลากลางคืนหยางจะลดลงตามธรรมชาติ หากกินของเย็นในช่วงเย็นจึงเป็นการเข้าไปดึงหยางให้ลดลงไปอีก การกินเยียวยาอาการหยางพร่อง แนะนำให้กินอาหารที่มีฤทธิ์ร้อน ซึ่งเป็นอาหารที่ให้พลังงานประเภทเนื้อสัตว์ รังนก ซุปต่างๆ แต่ถ้ากินแล้วรู้สึกร้อนให้หยุดกิน และถ้าจะกินผลไม้ ให้กินในช่วงมื้อกลางวันมากกว่า
หยางเกิน เกิดจากหยางพุ่งขึ้นข้างบน ทำให้เลือดพุ่งขึ้นข้างบน ทำให้มีอาการหน้าแดง ตาแดง โมโหง่าย ความดันโลหิตสูง การกินเยียวยาอาการหยางเกิน ควรงดแอลกอฮอล์ กาแฟ รวมทั้งยาบำรุงบางชนิดที่ให้ความร้อน เพราะจะทำให้ยิ่งทำให้เลือดสูบฉีด และควรกินอาหารที่เป็นหยินซึ่งมีฤทธิ์เย็นเพิ่มขึ้น
คุณสุรีย์ (สงวนนามสกุล) หรือคุณใหญ่ หญิงไทยเชื้อสายจีนแต้จิ๋ววัย 60 ปี เป็นคนหนึ่งที่สุขภาพดีจากการกินอาหารตามหลักหยินหยาง วันนี้เธอจึงยังดูอ่อนกว่าวัย รูปร่างดี และแข็งแรงกระฉับกระเฉง แถมทุกวันนี้เธอยังทำงานวันละ 9-10 ชั่วโมง สัปดาห์ละ 6 วัน อย่างขันแข็ง คุณใหญ่เล่าเคล็ดลับเกี่ยวกับการกินอาหารแบบหยินหยาง ซึ่งได้รับการถ่ายทอดจากอาม่าอากงว่า “เมื่ออากาศเย็น จะกินโสมที่มีฤทธิ์ร้อน แต่ต้องนำมาตุ๋นผสมกับรังนกซึ่งมีฤทธิ์เย็น ทำให้อาหารที่ได้มีฤทธิ์ไม่ร้อนจัด หรือกินโสมตุ๋นกับปักคี้ เพราะคนจีนเชื่อว่าปักคี้เป็นตัวปรับสมดุลอุณหภูมิในร่างกาย ทำให้ร่างกายไม่ร้อนเกินไป”
ในทางกลับกัน เมื่อร่างกายมีความร้อน หรือที่คนไทยเรียกว่า อาการร้อนใน คุณใหญ่จะกินอาหารฤทธิ์เย็น “เมื่อร่างกายร้อน คนจีนมักให้กินอาหารที่มีฤทธิ์เย็น เช่น เห็ดหูหนูขาวตุ๋นน้ำตาลกรวด น้ำหล่อฮั่งก้วย ชาจับเลี้ยง หรือรังนกตุ๋นน้ำตาลกรวด อาจจิบชาเขียว น้ำเก็กฮวย น้ำจับเลี้ยง หล่อฮังก้วยด้วยก็ได้ เพราะน้ำสมุนไพรเหล่านี้มีฤทธิ์เย็น แต่ไม่เย็นจัด จะช่วยให้ร่างกายเย็นลง และกลับสู่สมดุลที่ดี”
ที่มา
นิตยสารชีวจิตฉบับที่ 297 กินอยู่อย่างแข็งแรงด้วยแพทย์แผนจีน