ผู้คนในปัจจุบันมีภาวะเสี่ยงต่อการรับสารพิษแบบที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว เพราะสารพิษมีอยู่รอบๆ ตัวเรา ทั้งหลีกเลี่ยงได้และไม่ได้ สารพิษจากควันรถยนต์ที่ได้รับทุกวันแต่หลีกเลี่ยงไม่ได้ สารพิษจากพลาสติก สารพิษที่แฝงอยู่ในยาแก้อักเสบ คลื่นไมโครเวฟ สารพิษที่อยู่ในเครื่องสำอาง เจลใส่ผม ครีมกันแดด ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่บางคนอาจไม่รู้ถึงภัยอันตรายที่มีอยู่ แต่เมื่อได้รับสะสมเป็นเวลานานๆ จะส่งผลกระทบต่อร่างกายทั้งระบบทางเดินหายใจ โรคภูมิแพ้ โรคผิวหนัง และโรคเรื้อรังอื่นๆ ตามมา
นพ.พลวิช กล้าหาญ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการปรับสมดุล จาก AMC Clinic ได้ให้ข้อคิดเห็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องสารพิษว่า โรคที่พบส่วนใหญ่ในปัจจุบัน อาทิ ภูมิแพ้ โรคผิวหนัง สิวเรื้อรัง ไมเกรน ฯลฯ สาเหตุหนึ่งเกิดจากการสะสมสารพิษในร่างกายจากการใช้สิ่งของในชีวิตประจำวันที่มีสารพิษโดยไม่รู้ตัว บางคนเป็นสิวเรื้อรังเพราะแพ้สารพิษบางชนิดที่มีอยู่ในครีมกันแดด ภูมิแพ้จากน้ำหอมที่ใช้ประจำ ผื่นแพ้ผิวหนังจากสารพิษในผงซักฟอก ปวดไมเกรนจากการใช้ยาแก้อักเสบมากเกินไป เป็นต้น ดังนั้นสิ่งที่ควรปฏิบัติให้ห่างไกลจากสารพิษ คือ หมั่นสำรวจและสังเกตตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่าตนเองแพ้อะไรบ้าง และหลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของที่อาจมีสารพิษเจือปนอยู่ ซึ่งสารพิษที่มีอยู่ในสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวเรา ที่อาจเสี่ยงให้เกิดโรคได้มีดังนี้
1.ควันพิษจากรถยนต์ เพราะการสูดเอาอนุภาคเล็ก ๆ ของสารเคมีที่เกิดจากการเผาไหม้น้ำมันเชื้อเพลิง นอกจากจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและเส้นเลือดแตกแล้ว ยังทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือดบริเวณขา (ที่เรียกว่าโรคดีวีทีซึ่งจะเกิดขึ้นกับผู้ที่นั่งอยู่กับที่นานๆ ไม่ค่อยเคลื่อนไหวหรือเปลี่ยนอิริยาบถ เช่น ผู้ที่นั่งเครื่องบินนานๆ) โดยสารเคมีหรือมลพิษดังกล่าว ทำให้เลือดมีความข้นเหนียวจนทำให้เกิดลิ่มเลือดและอุดตัน
2. พลาสติก และกล่องโฟม ผู้คนในยุคไอทีคงคุ้นเคยกับอาหารถุงหรือกล่องโฟม ที่พลาสติกและกล่อง โฟมถูกใช้แทนใบตอง หรือกระดาษ ในการบรรจุอาหาร อาจเป็นเพราะสะดวก และราคาไม่แพง โดยเฉพาะกล่องโฟมมักถูกนำไปใช้ในการบรรจุอาหารที่ร้อนและมีน้ำมัน อาจทำให้เกิดอันตรายจากสารปนเปื้อนที่แยกตัวออกมาจากภาชนะบรรจุได้ สารพิษที่พร้อมจะปนเปื้อนกับอาหารจากการใช้ถุงพลาสติกหรือกล่องโฟมเหล่านี้มีมากมายหลายชนิด เช่น ในกล่องโฟม / ถาดโฟมที่ใช้บรรจุอาหาร เมื่อได้รับความร้อนสูงจะให้สาร 2 ชนิด คือ เบนซีน (benzene) และสไตรีน (styrene) ซึ่งสารดังกล่าวจะละลายได้ดีในอาหารที่มีส่วนประกอบของไขมัน สำหรับเบนซีน หากได้รับเข้าสู่ร่างกายเป็นเวลานานอาจทำให้เป็นโรคโลหิตจาง (anemia) หรือมะเร็งเม็ดเลือดขาว (leukemia) ได้ ส่วนสไตรีน ผลต่อร่างกายเมื่อถูกผิวหนังหรือเข้าตาจะทำให้ระคายเคือง หากสูดดมเข้าไปจะมีอาการไอ และหายใจลำบาก เพราะไปทำให้เยื่อเมือกเกิดความระคายเคือง ปวดศีรษะ ง่วงซึม
3.ไมโครเวฟ สารก่อมะเร็งในอาหารที่เกิดจากการใช้เตาอบไมโครเวฟ จากการค้นคว้าของสหภาพโซเวียตถูกตีพิมพ์โดย Atlantis Rising Educational Center ได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสารก่อมะเร็งที่ถูกก่อขึ้นในอาหารทุกชนิดที่ใช้ในการทดสอบจากการปรุงอาหารโดยการใช้เตาอบไมโครเวฟที่ทำการทดสอบโดยชาวรัสเซียมีดังต่อไปนี้
•เนื้อสัตว์ที่ถูกปรุงสุกเพื่อการรับประทานจะเกิดการก่อตัวของสารที่เรียกทางวิทยาศาสตร์ว่า d-Nitrosodiethanolamines หรือที่รู้จักกันดีว่าเป็นสารก่อมะเร็ง
•กรดอะมิโนในนมและธัญพืชที่ถูกอุ่นให้ร้อนโดยเตาอบไมโครเวฟ จะถูกแปลงเป็นสารก่อมะเร็ง
•การให้ความร้อนกับผลไม้แช่แข็งจะทำให้สารประกอบภายในที่เป็นน้ำตาลและแป้ง จะถูกแปลงไปเป็นสารก่อมะเร็ง
•การปรุงผักให้สุกโดยเฉพาะผักที่มีราก จะเป็นการรวมกลุ่มธาตุของสารที่ก่อให้เกิดมะเร็งเข้าด้วยกัน ปฏิกิริยานี้จะเกิดมากที่รากของพืชนั้นๆ
4. ครีมกันแดด มีสารไทเทเนียมไดออกไซด์เป็นสารสีที่มีสีขาวมีประโยชน์สำหรับการใช้งานได้หลากหลายเนื่องจากมันไม่มีกลิ่นและมีความสามารถในการดูดซับ แร่ชนิดนี้พบได้ในหลายผลิตภัณฑ์ตั้งแต่สีทาบ้านไปถึงอาหารและเครื่องสำอาง ในกลุ่มเครื่องสำอางเป็นตัวที่ทำให้เกิดการทึบแสงและเป็นตัวป้องกันแสงแดด อนุภาคไทเทเนียมไดออกไซด์ในสารกันแดดมีขนาดเล็กอาจจะสามารถแทรกผ่านเซล และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ DNAเมื่อได้รับแสง และเป็นที่น่ากลัวว่าจะก่อให้เกิดมะเร็งผิวหนัง การศึกษาโดยการใช้สารกันแดดที่มีไทเทเนียมไดออกไซด์ขนาดเล็กทุกวันเป็นเวลา 2-4 สัปดาห์แสดงให้เห็นว่าผิวหนังสามารถดูดซับอนุภาคไทเทเนียมไดออกไซด์ขนาดเล็กได้ อนุภาคเหล่านี้พบได้ในชั้นของผิวหนังภายใต้แสงอุลตร้าไวโอเลต สำหรับอนุภาคไทเทเนียมไดออกไซด์ที่มีขนาดใหญ่มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการสะท้อนหรือดูดกลืนแสงอุลตร้าไวเลตได้เพื่อปกป้องผิว ดังนั้นผู้บริโภคจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่อนุภาคของสารสีขนาดเล็กไม่ว่าจะเป็นสารกันแดดหรือเครื่องสำอางที่ให้สี
5.ยาแก้ปวด/แก้อักเสบ จากข้อมูลการใช้ยาแก้ปวดของคนไทย โดยเฉพาะ พาราเซตามอล พบว่ามีการใช้ในปริมาณมากและเกินความจำเป็น จนเข้าขั้นอันตรายต่อการดื้อยาและส่งผลข้างเคียงต่ออวัยวะภายในร่างกาย ยาพาราเซตามอล แอสไพริน ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ซึ่งมีฤทธิ์แก้ปวด ลดไข้ และต้านการอักเสบ ไม่ควรใช้ติดต่อกันนาน ๆ โดยเฉพาะยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เนื่องจากจะมีผลต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกาย ทั้งระบบทางเดินอาหาร หากใช้ยาเกินปริมาณจะเป็นพิษต่อตับ จนเกิดภาวะตับวาย และเสียชีวิตในที่สุด
6.ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับเส้นผมต่างๆ พบว่ามีสารพิษมากมาย อาทิ แชมพูรักษาหนังศีรษะ มีสารโซเดียมซัลเฟต ซึ่งมีผลต่อการระคายเคืองของผิวหนังและดวงตา ผลิตภัณฑ์ย้อมสีผมมีสารซัลเฟตโทลูอีน อาจทำให้เกิดสารก่อมะเร็งกับระบบประสาทที่เป็นพิษต่อสมองและศูนย์กลางไตและตับ
รู้อย่างนี้แล้วจะใช้อะไรก็ควรระมัดระวังว่ามีสารพิษหรือไม่ หรือหลีกเลี่ยงภาวะต้องเผชิญกับสารพิษให้น้อยที่สุด อยู่กับธรรมชาติใช้สารที่มาจากธรรมชาติดีที่สุด