น้ำมันเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชนและทุกภาคส่วน และมีแนวโน้มการใช้น้ำมันสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อความต้องการใช้น้ำมันมีมากขึ้น แต่น้ำมันมีจำกัดทำให้ราคาน้ำมันสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งส่งผลกระทบทุกภาคส่วน รวมทั้งเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก ปัญหาน้ำมันจึงเป็นปัญหาที่ไม่อาจละเลยได้เลย
จากปัญหาพลังงานที่นับวันจะหายากและมีราคาที่แพงขึ้น รวมไปถึงปัญหาโลกร้อนซึ่งเกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลในปริมาณมากมายมหาศาล ทำให้มนุษย์ต้องดิ้นรนหาทางออกในการลดค่าใช้จ่ายในด้านพลังงาน และในทางที่เสริมกันถ้าเราสามารถลดการใช้พลังงานหรือทำให้การเผาไหม้ของพลังงานมีประสิทธิภาพสูงขึ้น จะทำให้ช่วยลดปัญหาโลกร้อนลงได้
นี่คือสาเหตุหลักที่ ดร.สุรเชษฐ เดชฟุ้ง อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (มทร.พระนคร) พยายามหาทางการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ขึ้นมา เพื่อหวังลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ด้วยนวัตกรรม “กล่องควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ที่ควบคุมการจ่ายเชื้อเพลิงร่วมของเครื่องยนต์ดีเซล” โดยกล่องควบคุมอิเล็กทรอนิกส์นี้ เคยได้รับรางวัลนวัตกรรมยานยนต์ยอดเยี่ยม งานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ปี 2012 รางวัลวิศวกรยอดเยี่ยมของประเทศ ด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ประจำปี พ.ศ. 2555 โดยวิศวกรรมสถานแห่งชาติ ในพระบรมราชูปถัมภ์ รางวัลโครงการวิทยาศาสตร์สู่ความเป็นเลิศประจำปี 2555 โดยกรรมาธิการวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการสื่อสารและโทรคมนาคม วุฒิสภา รางวัลนักวิจัยที่นำผลงานไปใช้ประโยชน์ดีเด่น ประจำปี 2556 มทร.พระนคร และรางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้นของชาติ ระดับดี ประจำปี 2557 จากสภาวิจัยแห่งชาติ
ดร.สุรเชษฐ เดชฟุ้ง เจ้าของผลงาน กล่าวว่า กล่องควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ที่ควบคุมการจ่ายเชื้อเพลิงรวมของเครื่องยนต์ดีเซล นี้ ได้ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมาด้วยเงินทุนจำนวน 10,000 บาท และอุปกรณ์ที่ใช้ทั้งหมดก็จัดซื้อมาจากภายในประเทศ ซึ่งใช้เวลาคิดค้นทั้งหมดเป็นเวลา 3 ปี โดยสิ่งประดิษฐ์ที่ว่านี้เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการควบคุมการจ่ายแก๊สร่วมให้กับเครื่องยนต์ดีเซล ทำให้มีการจ่ายแก๊สด้วยเทคนิคใหม่ เครื่องยนต์จึงไม่เขก (Unknocking) ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มีการจ่ายแก๊สได้ในปริมาณมาก ส่งผลให้เกิดการประหยัดสูงสุด อย่างไรก็ตามกล่องควบคุมนี้สามารถจ่ายแก๊สร่วมกับน้ำมันดีเซลได้ทั้ง NGV หรือ LPG
โดยกล่องควบคุมอิเล็กทรอนิกส์นี้มีข้อดีคือ ไม่เขกในทุกย่านความเร็วรถและความเร็วรอบเครื่องยนต์ ประหยัดค่าเชื้อเพลิง ถ้าในกรณีใช้ร่วมกับแก๊ส NGV จะประหยัดมากว่า 50% และถ้าใช้ร่วมกับแก๊ส LPG จะประหยัดมากว่า 40 % แรงม้าและแรงบิดของเครื่องยนต์เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 20% ที่สำคัญไม่ต้องดัดแปลงเครื่องยนต์ ค่าติดตั้งถูกมากและค่าบำรุงรักษาต่ำ มีการเขียนซอร์ฟแวร์ใหม่โดยไม่ต้องใช้ EEPROM ทำให้จูนตอนติดตั้งครั้งแรกเท่านั้น เพราะค่าความจำจะไม่หายเมื่อเกิด Switching Surge
ส่วนคุณสมบัติพิเศษ กล่องควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้จ่ายแก๊สได้ทั้ง NGV หรือ LPG ร่วมกับน้ำมันในเครื่องยนต์ดีเซลทุกประเภท ทำให้ประหยัดการใช้จ่ายเชื้อเพลิง โดยเครื่องยนต์ไม่มีปัญหา และมีแรงม้าแรงบิดเพิ่มขึ้น
ดร.สุรเชษฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากนำสิ่งประดิษฐ์นี้มาใช้งานกับเครื่องยนต์ดีเซลทั้งประเทศจะทำให้มีมูลค่าการนำเข้าน้ำมันดีเซลและแก๊ส NGV และ LPG รวมกันลดลงไปเป็นเงินสองแสนล้านบาทต่อปี เป็นการประหยัดเงินตราการนำเข้าพลังงานของประเทศและยังช่วยลดโลกร้อนอีกวิธีหนึ่ง เพราะระบบการเผาไหม้ดีกว่าการใช้น้ำมันดีเซล 100% ส่วนเจ้าของรถก็จะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ใช้รถดีเซลดีขึ้น มีเงินเหลือจากการประหยัดค่าเชื้อเพลิงอย่างน้อย 40% จากการการทดสอบเครื่องยนต์กินแก๊ส 11.86 กิโลเมตรต่อลิตร และกินน้ำมันดีเซล 34 กิโลเมตรต่อลิตร รถยนต์บรรทุกมีกำลังทั้งแรงม้าและแรงบิดดีขึ้นกว่า 50% ลงทุนเฉพาะอุปกรณ์เสริมไม่เปลี่ยนอุปกรณ์เดิม ที่สำคัญยังใช้ได้กับระบบขนส่งต่างๆ อาทิ รถไฟดีเซลราง เรือ เครื่องสูบน้ำ เครื่องปั่นไฟ เป็นต้น ทำให้เกิดการประหยัดอย่างมหาศาลอีกด้วย
นี่คือผลงานการประดิษฐ์คิดค้น “กล่องควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ที่ควบคุมการจ่ายเชื้อเพลิงร่วมของเครื่องยนต์ดีเซล” ซึ่งเป็นผลงานที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ แปลกใหม่ มีคุณค่าทางเศรษฐกิจและใช้สอย หากผลงานนี้ได้รับการต่อยอดและนำไปใช้ประยุกต์ใช้งานอย่างแพร่หลาย จะทำให้ประเทศไทยลดการซื้อน้ำมันดีเซลจากต่างประเทศจำนวนกว่า 3 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ “กล่องควบคุมอิเล็กทรอนิกส์ที่ควบคุมการจ่ายเชื้อเพลิงร่วมของเครื่องยนต์ดีเซล” จะถูกแสดงในงาน Bangkok international moter show ครั้งที่ 35 ระหว่างวันที่ 26 มีนาคม – 6 เมษายน 2557 ณ อาคาร ชาเลนเจอร์ อิมแพค เมืองทองธานี และเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าประกวดสิ่งประดิษฐ์ระดับโลกในงาน “42nd International Exhibition of Inventions of Geneva” ในระหว่างวันที่ 2 – 6 เมษายน 2557 ณ กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส
หากใครสนใจสอบถามเพิ่มเติมติดต่อได้ที่ ดร.สุรเชษฐ เดชฟุ้ง อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร โทรศัพท์ 098-2587126