โดย Energy Man
วันนี้ (12 พ.ค. 2557) มีการแถลงข่าวเปิดตัว “กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน” เป็นกลุ่ม เครือข่ายบุคคลที่มีประสบการณ์ตรงด้านพลังงานและเกี่ยวข้องกับภาคพลังงาน 30 กว่าคน โดยมี ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นแกนนำกลุ่ม และบุคลากรในแวดวงพลังงานและที่เกี่ยวข้อง อาทิ นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) คุณหญิงทองทิพ รัตนะรัต อดีตผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย นายมนู เลียวไพโรจน์ อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ อาจารย์ประจำ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฯลฯ ได้เสนอข้อเสนอ 6 อย่างในการปฏิรูปพลังงาน อย่างย่อๆ ดังนี้
(1) ปรับโครงสร้างราคาพลังงานประเภทต่างๆให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง
(2) เพิ่มการแข่งขันและประสิทธิภาพในธุรกิจพลังงาน เพื่อมิให้มีการเอาเปรียบผู้บริโภค
(3) ลดการแทรกแซงโดยมิชอบและแสวงหาประโยชน์ในกิจการพลังงานที่รัฐถือหุ้น และการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนของเจ้าหน้าที่ของรัฐ
(4) ปรับปรุงกระบวนการในการกำหนดนโยบาย และการขออนุญาต โดยตั้งสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานแบบ EIA ของสหรัฐฯ
(5) สำรวจ พัฒนาและจัดหาแหล่งพลังงาน
(6) ส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาด
จากที่ให้ทีมงานได้อ่านรายละเอียดใน www.energyreform.in.th ก็ถือว่าเป็นแนวทางปฏิรูปที่สวนกระแสทวงคืนพลังงาน เกือบจะเรียกได้ว่าออกมาตรงกันข้ามกับของ ร่างแผนแม่บทปฏิรูปพลังงานของกลุ่ม คปท. (เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย) หรือกลุ่มที่มีทิศทางเดียวกับกลุ่มทวงคืนพลังงานไทย [ii]
ขอยกตัวอย่างสัก 2 ประเด็นเช่น
(1) เรื่ององค์กรกิจการพลังงาน
กลุ่มของ ดร.ปิยสวัสดิ์ ต้องการแปรรูป ปตท. ให้เป็นเอกชนไปเลย ให้รัฐถือครองหุ้นต่ำกว่า 50% ซึ่งผู้เขียนมองว่าก็มีทั้งข้อดีข้อเสีย ข้อดีก็คือทำให้ ปตท.เข้าสู่การแข่งขันอย่างเต็มตัว ไม่มีอภิสิทธิ์บางอย่างในฐานะรัฐวิสาหกิจและลดการแทรกแซงของกลุ่มการเมืองจากภาครัฐ และถ้าแปรรูปเป็นเอกชนไปเลยรัฐก็จะได้เงินจากการขายหุ้นกว่า 5-6 แสนล้านบาทมาใช้เป็นงบประมาณสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่นรถไฟฟ้าความเร็วสูงได้ แถมลดหนี้สาธารณะได้อีก แต่ข้อเสียก็คือ การกำหนดนโยบายของรัฐบางอย่างที่อาจจะต้องการช่วยเหลือประชาชนในบางครั้งอาจจะสั่ง ปตท.ไม่ได้เหมือนอย่างที่เคยเป็น รวมถึงรัฐอาจจะเสียผลประโยชน์จากเงินปันผลและอื่นๆ ก็ต้องลองชั่งน้ำหนักกันดูว่าแบบไหนดีกว่ากัน
ส่วนกลุ่ม คปท. หรือกลุ่มทวงคืนพลังงาน ไหนๆก็ทวงคืน ปตท.ไม่สำเร็จแล้ว ก็จัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติแห่งใหม่เลย เสมือนเป็น ปตท.2 และจัดตั้งสภาจัดการพลังงาน เป็นองค์กรอิสระจากกระทรวงพลังงานและกำกับดูแลภาคพลังงานเองด้วยอำนาจล้นฟ้า ซึ่งผู้เขียนก็มองว่า ยิ่งทำแบบนี้ จะยิ่งเป็นผลเสียและเปิดช่องทางให้มีการทุจริตมากกว่า เพราะไม่มีใครตรวจสอบองค์กรแห่งใหม่นี้ได้ และแน่ใจหรือว่ากลุ่มที่เข้ามามีอำนาจในบรรษัทน้ำมันแห่งชาตินี้จะมือสะอาดจริง และบริหารงานด้านพลังงานเป็นหรือเปล่าก็ไม่ทราบ จะทำให้มีประสิทธิภาพจริงหรือเปล่า เพราะเท่าที่เห็น กลุ่มจัดตั้งกลุ่มนี้ยังไม่มีความเข้าใจด้านพลังงานเพียงพอ ผู้เขียนกลับไม่เห็นข้อดีของการตั้งองค์กรแบบนี้เลย
(2) เรื่องโครงสร้างราคาพลังงาน
ในส่วนของแผนปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืนของกลุ่ม ดร.ปิยสวัสดิ์ ที่จริงๆแล้ว ผู้เขียนมองว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่จะไม่ถูกใจของประชาชนคือ ปรับราคาทุกอย่างสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงและบวกภาษีสรรพสามิตและกองทุนน้ำมันที่รัฐควรจะได้ คือ ปรับราคา NGV, LPG, ดีเซล ขึ้นให้หมด แต่ก็อาจจะช่วยลดราคาน้ำมันในกลุ่มเบนซินได้ที่มีกลุ่มผู้ใช้มอเตอร์ไซด์ใช้อยู่จำนวนมาก จริงๆแล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องของการสอนให้คนรู้จักคุณค่าของพลังงานและใช้มันอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า
ทุกวันนี้ NGV ราคาขายปลีกที่ 10.50 บาทต่อกก.เนี่ย เป็นราคาขายขาดทุน ราคาที่แท้จริงควรอยู่ประมาณ กก.ละ 15 บาท ทำให้ ปตท.ต้องแบกภาระตรงส่วนนี้ถึงปีละ 20,000 ล้านบาท [iii] จึงไม่แปลกใจที่ไม่มีเอกชนเจ้าอื่นๆมาประกอบกิจการแข่งขัน เพราะตอนนี้ ปตท. ผูกขาดการขาดทุนอยู่
ส่วน LPG หรือก๊าซหุงต้ม วันนี้สถานการณ์ก็ดีขึ้นมาหน่อย ผู้เขียนก็ต้องขอยอมรับว่า นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนปัจจุบันในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ กล้าทำในสิ่งที่ถูกต้องคือ ปรับราคาก๊าซหุงต้มครัวเรือนขึ้นเดือนละ 50 สตางค์ต่อ กก. เพื่อสะท้อนต้นทุนโรงแยกก๊าซฯ เพราะปัญหานี้เป็นปัญหาที่หมักหมมมานาน ทำให้เกิดการลักลอบถ่ายเท ใช้ก๊าซหุงต้มผิดประเภท เช่นจากครัวเรือนไปใช้ในขนส่งและอุตสาหกรรม หรือแม้แต่ลักลอบไปขายให้ประเทศเพื่อนบ้านที่ราคาสูงกว่าเท่าตัว อีกอย่าง จากนโยบายตรึงราคาก๊าซหุงต้ม ทำให้คนหันมาใช้ก๊าซหุงต้มในรถยนต์มากขึ้นมหาศาลจนปัจจุบันถึงขั้นต้องนำเข้าในราคาตลาดโลกที่แพงกว่าราคาหน้าโรงแยกก๊าซฯของ ปตท ในปัจจุบัน ถึงเกือบสามเท่า ส่งผลให้ต้องใช้เงินกองทุนน้ำมันอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้มไปแล้วทั้งหมด 140,000 ล้านบาท [iv]
ส่วนราคาดีเซล เป็นผลพวงจากนโยบายตรึงราคาไว้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตรจากรัฐบาลอภิสิทธิ์ [v] โดยเก็บภาษีสรรพสามิตดีเซลเพียง 0.5 สตางค์ต่อลิตร ทำให้คนที่ใช้รถยนต์ส่วนตัวหันมาใช้น้ำมันดีเซลสูงขึ้นมาก วันนี้ทะลุไปมากกว่า 60 ล้านลิตรต่อวันแล้ว แต่ก่อนหน้านั้นใช้กันประมาณ 40 กว่าล้านลิตรต่อวันเท่านั้นเอง [vi] ตรงส่วนนี้ก็ควรเก็บภาษีสรรพสามิตเข้ารัฐก็จะช่วยเพิ่มสภาพคล่องทางการคลังของประเทศ ถ้ากลับมาเก็บในอัตราเดิมคาดว่าจะมีภาษีเข้ารัฐเพิ่มเติมถึง 100,000 ล้านบาท
**อ่านต่อที่นี่***
http://www.ispacethailand.com/economy/3231.html 
