คณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือคสช.สามารถทำอะไรรวดเร็วได้ โดยปราศจากอุปสรรคต่อต้าน และสามารถจะทำเรื่องยากที่รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยทำไม่ได้ให้เป็นเรื่องทำได้
เรื่องเร่งด่วนในธุรกิจพลังงานมีอยู่ 3 เรื่อง ซึ่งอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ นายคุรุจิต นาครทรรพบอกว่า จะต้องรอนโยบายที่ชัดเจนจากคสช.ว่าจะให้ดำเนินการในเรื่องนี้อย่างไร
เรื่องที่หนึ่งคือการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ครั้งที่ 21 ซึ่งล่าช้ามา 2 ปีแล้ว
เรื่องที่สองคือการต่ออายุสัมปทานปิโตรเลียมที่จะหมดอายุลงในปี2565 อาทิ แหล่งอาทิตย์ของบริษัทเชฟรอนสำรวจและผลิต และแหล่งบงกชของปตท.สผ.
ส่วนเรื่องที่ 3 ก็คือ การพัฒนาพื้นที่แหล่งปิโตรเลียมไทย-กัมพูชา ที่ค้างคามานานมากแล้ว
ปัญหาข้อนี้ไม่ง่ายเหมือนการเจรจาในพื้นที่ JDA กับทางมาเลเซียเลย เพราะมีทั้งปัญหาข้อพิพาททางชายแดนในอดีต ยิ่งมีการผสมโรงเรื่อง “ทักษิณ” จะเข้ามาฮุบผลประโยชน์ ยิ่งทำให้การเจรจายากเย็นเป็นทวีคูณ
3 ปัญหานี้เป็นเรื่องเร่งด่วนและเป็นความจำเป็นอย่างไม่ต้องสงสัย เนื่องจากขณะนี้ปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเริ่มทยอยหมดลง
ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ มีราคาคาแพงมาก และจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนหลายด้านทั้งค่าไฟและค่าขนส่ง หากเราไม่เร่งหาแหล่งสำรองใหม่
เอ็นจีวีในภาคขนส่งที่ขายกันในราคาก.ก.ละ 10.50 บาทในเวลานี้ เป็นราคาขายที่ต่ำกว่าราคาต้นทุน ซึ่งต้นทุนจริงประมาณ 15 บาท ปตท.เป็นผู้แบกรับการขาดทุนแต่ผู้เดียวไปทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์
ยิ่งไม่มีแหล่งก๊าซธรรมชาติจากในประเทศ ซึ่งผลิตได้เองแค่ 60%ของความต้องการใช้ จะเกิดความวุ่นวายโกลาหลแค่ไหน
ส่วน LPG ที่ใช้ในครัวเรือน ภาคขนส่ง และภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะเป็นตัวตั้งต้นของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เวลานี้ก็กำหนดราคาขายกันต่ำกว่าราคาต้นทุนอยู่แล้วในระดับประมาณ 70-100% ก็จะยิ่งโกลาหลวุ่นวายมากยิ่งขึ้น
กองทุนน้ำมันที่มีอยู่ คงจะรับมือไม่ไหวหรอก ก็คงจะต้องใช้วิธีการทั้งขูดรีดจากผู้ใช้เบนซินหนักข้อยิ่งขึ้น รวมทั้งใช้เงินงบประมาณจากรัฐบาลเข้ามาอุดหนุน
ปัญหาเอ็นจีวีที่ว่าหนักแล้ว แต่ปัญหาแอลพีจีจะหนักหนาสาหัสกว่ากันมาก
ปัญหาว่า ทำไมถึงต้องเร่งดำเนินการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ และต้องเร่งดำเนินการต่ออายุสัมปทานปิโตรเลียมที่จะหมดอายุลงอีกตั้ง 8 ปีข้างหน้า ก็ต้องทำความเข้าใจกันนะว่า การขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมนั้น ใช่ว่าจะทำได้รวดเร็วปุ๊บปั๊บ
ขุดไปแล้วไม่มี หรือขุดไปแล้วมีปริมาณสำรองน้อยมาก ไม่คุ้มค่าในเชิงพาณิชย์ ก็ต้องปิดหลุม “กินแห้ว” และต้องไปเสาะหาแหล่งขุดเจาะใหม่กันอีก
ส่วนการต่ออายุสัมปทานที่จะหมดอายุลง ก็ใช่ว่าแหล่งที่ทำการผลิตอยู่ จะมีก๊าซให้ขุดได้ตลอดไป ยังต้องมีการสำรวจเจาะแหล่งข้างเคียง ซึ่งจะต้องมีการเตรียมการทั้งกำลังคน เครื่องมือ และเงินทุนแต่เนิ่นๆ
หากไม่มีนโยบายแน่ชัดจากภาครัฐ ใครจะกล้าลงทุน
สำหรับการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมไทย-กัมพูชา ช่วงนี้ถือเป็นจังหวะงดงามที่สุดที่ควรจะหยิบฉวยไว้แล้ว
หมดข้อห่วงกังวลโดยสิ้นเชิงว่า ทักษิณจะเข้ามาเกาะเกี่ยวผลประโยชน์ เพราะขณะนี้ “ทักษิณ” เสมือนไม่มีตัวตนอยู่แล้ว แต่ประเทศชาติจะได้ประโยชน์อย่างมหาศาล
กัมพูชาคงไม่อยู่ในฐานะจะลงทุนสร้างโรงแยกก๊าซเองได้ ก๊าซจากแหล่งพัฒนาร่วม ก็คงจะมาขึ้นทางฝั่งไทย
กัมพูชาก็คงจะได้รับเงินแค่ค่าก๊าซปากหลุมไป แต่ไทยจะได้ประโยชน์มหาศาลจากโรงแยกก๊าซ ซึ่งจะสามารถไปสร้าง “มูลค่าเพิ่ม” ต่อเนื่องได้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี
ไม่มีโอกาสไหนที่จะเหมาะสมงดงามที่จะดำเนินการทั้ง 3 เรื่อง เท่าโอกาสในตอนนี้แล้วครับท่าน
