Blogpost โดย รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ -- สิงหาคม 22, 2557 ที่ 18:31
เมื่อวานนี้ (21 สิงหาคม 2557)
กรีนพีซได้จัดเวทีสาธารณะเรื่อง “กระบี่บนทางแพร่ง: : ถ่านหินสกปรกหรือระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด” และร่วมหาคำตอบกับประชาชนว่าพลังงานประเภทใดคืออนาคตของพลังงานที่ประเทศไทยควรเลือกเดิน พร้อมทั้งถ่ายทอดสดทางอินเตอร์เน็ท และเปิดเผยรายงานที่อธิบายถึงแผนการของรัฐบาลและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเพื่อขยายโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จังหวัดกระบี่ แม้ว่ากระบวนการจัดทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพนั้นประสบความล้มเหลว ระบุถึงผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจท้องถิ่น ผลกระทบที่เคยเกิดขึ้นในอดีตจากโรงไฟฟ้าถ่านหินเก่า ความล้มเหลวของการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และข้อเสนอเชิงนโยบายด้านทางออกระบบพลังงานหมุนเวียนแบบกระจายศูนย์และผสมผสานที่ประเทศไทยควรเลือกเดิน
กรีนพีซเผยรายงาน
“กระบี่บนทางแพร่ง : ถ่านหินสกปรก หรือ ระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด” ระบุถ่านหินไม่ใช่คำตอบของความมั่นคงทางพลังงาน เสนอระบบพลังงานหมุนเวียนแบบกระจายศูนย์และผสมผสานเป็นทางออกที่ไม่ทำลายเศรษฐกิจท้องถิ่น ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม มีความยั่งยืนต่ออนาคตพลังงานกระบี่และของประเทศไทย
© ©สิทธิชัย จิตตะทัต/กรีนพีซ
ทางเลือกที่เลือกไม่ยาก แต่รัฐไม่อยากจะเลือก?ขณะนี้โรงไฟฟ้าถ่านหินของไทยหลักๆ 2 โรง คือที่แม่เมาะ จังหวัดลำปาง (กำลังผลิต 2,180 เมกะวัตต์) และของบีแอลซีพี/เก๊คโควัน ที่จังหวัดระยอง (กำลังผลิต 2,007 เมกะวัตต์) นั้นใช้ถ่านหินนำเข้าจากประเทศอินโดนีเซีย และออสเตรเลีย “ในแผนพีดีพีใหม่ กำหนดเป้าไว้ว่าจะนำเข้าถ่านหินเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 8 ในฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 ไปเป็นร้อยละ 18-26 ในอนาคต ซึ่งนั่นหมายความว่า นอกจากโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่แล้ว จะมีโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งอื่นอีกอย่างน้อย 3 โรง สำหรับถ่านหินที่อ้างว่าสะอาดนั้นมีกระบวนการชะล้างถ่านหินเพื่อเอาปรอทออกไป แต่ปรอทก็ยังคงอยู่ในกระบวนการเผาผลาญถ่านหิน แม้จะมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพียงใด ปรอทจะสะสมในเถ้า และกระจายสู่สิ่งแวดล้อม ไม่ได้หายไปแต่อย่างไร” ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการรณรงค์กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าว
“การเปลี่ยนแปลงแผนเพิ่มโรงไฟฟ้าขนาดนั้น ที่ประเทศอื่นจะเปลี่ยนเนื่องจากอุบัติเหตุอย่าง ภัยพิบัติเชอร์โนบิล ซึ่งเกิดเป็นวิกฤตขาดแคลนไฟฟ้า ในการอ้างว่าพลังงานหมุนเวียนไม่แน่นอน บริหารยาก ความจริงคือ เราสามารถพยากรณ์ล่วงหน้าได้ ซึ่งในทางสถิติถือว่าค่อนข้างแม่นยำ หลักการพลังงานมีหลักการเดียวกับประชาธิปไตย คือ กระจายอำนาจ กระจายศูนย์ ประชาชนมีส่วนร่วม ไม่ใช่แค่โรงไฟฟ้า การที่พลังงานหมุนเวียนมีต้นทุนสูงเนื่องจากรัฐไม่ให้การสนับสนุน” ผศ. ประสาท มีแต้ม กล่าว
“ภาวะโลกร้อนไม่ใช่นิยาย แต่เป็นเรื่องจริง ถึงจะมีน้ำมันเยอะเท่าน้ำทะเลเราก็ไม่ควรใช้ เพราะระบบนิเวศของโลกพังหมดแล้ว เราจะอยู่ไม่ได้แล้ว เราไม่ควรถกเถียงเรื่องพลังงานในแง่มิติของพลังงาน แต่ควรมองในมิติของระบบนิเวศโดยรวม” สิ่งที่โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่เลือกที่จะไม่บอก “พีพีทุกคนรับรู้ว่าเป็นเหมือนเกาะสวรรค์ ชาวลันตาฟังแล้วรู้สึกเจ็บปวดว่าเกาะลันตาเป็นเสมือนนรกหรือ” ธีรพจน์ กษิรวัฒน์ นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวเกาะลันตา กระบี่ กล่าว คำกล่าวในการโน้มน้าวชาวกระบี่เพื่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน และท่าเรือขนส่งถ่านหินนั้นยังเป็นข้อสงสัยอยู่ว่า หากเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดมีจริง เหตุใดจึงไม่สามารถสร้างจุดจอดพักเรือขนส่งถ่านหินที่เกาะพีพีได้ และทำไมตอนนี้ชาวพีพีจึงยังไม่รู้ถึงโครงการถ่านหินนี้
เส้นทางเดินเรือขนส่งถ่านหินนั้นอยู่ใกล้กับเกาะศรีบอยา อันเป็นพื้นที่หญ้าทะเลขนาดใหญ่ และเป็นบ้านของฝูงปลาพะยูนประมาณ 15 ตัว ซึ่งในแผนที่ของรายงาน EIA กลับไม่มีการพูดถึงจุดท่องเที่ยวสำคัญอย่างเกาะพีพี กระบี่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจจากป่าชายเลนและเชิงสันทนาการ ในพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่อย่างมหาศาล และไม่ได้ถูกพูดถึงในการจัดทำรายงาน EHIA และ EIA โดยโครงการโรงไฟฟ้ากระบี่นั้นมีการศึกษาผลกระทบแบ่งออกเป็น 2 ส่วน แยกกัน คือ ส่วนของโรงไฟฟ้าถ่านหินจะอยู่ในกระบวนการจัดทำรายงาน EHIA แค่ส่วนของท่าเรือและการขนส่งถ่านหินเป็นเพียงแค่EIA ที่ขาดการวิเคราะห์เรื่องผลกระทบด้านสุขภาพ ซึ่งการที่แยกโครงการออกมา คนจะมองไม่เห็นภาพรวมของผลกระทบที่เกิดขึ้น
อีกเรื่องหนึ่งที่ชาวกระบี่ยังข้องใจ คือ เมื่อใกล้จบกระบวนการรับฟังความคิดเห็น หรือ ค.3 กลับมีข่าวว่าจะมีโรงไฟฟ้าที่กระบี่ 4 โรง ไม่ใช่เพียงแค่โรงเดียว “เราจึงมองผลกระทบที่ไม่ได้เกิดจากโรงไฟฟ้าเพียงหนึ่งโรง แต่ปัญหาอาจเกิดขึ้นเป็นนิคมอุตสาหกรรม อย่างเช่น ชลบุรี การผลิตไฟฟ้าขึ้นอืกหนึ่งหมื่นเมกะวัตต์นั้นจะนำไปใช้ทำอะไรนอกจากการผลิตเพื่อนิคมอุตสาหกรรม การสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่นั้นเป็นเรื่องของการขาดแคลนพลังงานจริงหรือ ในเมื่อยังมีพลังงานอย่างอื่นให้เลือกอีก” นายธีรพจน์ กษิรวัฒน์ กล่าวเสริม
ทางเลือกของกระบี่: ถ่านหินสกปรก หรือระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด บางคนบอกประเทศไทยลมเพลมพัด จริงๆ แล้วไม่ได้ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีลม แต่เป็นนโยบายของรัฐ ดังที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประสาท มีแต้ม กล่าวไว้ว่า “อุปสรรคของกังหันลมไม่ได้อยู่ที่ต้นทุน และไม่ได้อยู่ที่เทคโนโลยีหรือแรงลม แต่อยู่ที่นโยบายรัฐ” โลกของเรามีศักยภาพทางพลังงานเหลือเฟือ ถ้าหากเราลองแหงนมองขึ้นฟ้า และรับแรงลม ในเวทีสาธารณะวันนี้ เราได้เรียนรู้ว่าพลังงานหมุนเวียนในไทยกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว เรามีพลังงานหมุนเวียนจากชีวมวล โซลาร์เซลล์ กังหันลม พลังน้ำ อยู่เกือบ 4,000 เมกกะวัตต์ จากเดิมที่สัดส่วนน้อยมาก มองดูแล้วไทยสามารถเป็นผู้นำในการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนที่ก้าวหน้า หากมีนโยบายที่สนับสนุน ขณะนี้ไทยมีพลังงานจากกังหันลมเป็นอันดับหนึ่งในอาเซียน ทั้งๆ ที่ฟิลิปปินส์มีกลไลนโยบายสนับสนุน แสดงว่าประเทศไทยสามารถทำได้ดีกว่านี้หากมีกลไกสนับสนุนที่ดี
ร่วมลงชื่อ “ปกป้องกระบี่จากถ่านหิน” และเรียกร้องว่าเราต้องการโรงไฟฟ้าที่มาจากพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด คลิกเลยที่ http://www.protectkrabi.org #ProtectKrabi
ที่มา : http://www.greenpeace.org/seasia/th/news/blog1/blog/50350/ ทางแพร่งของกระบี่ กับทางเลือกอนาคตพลังงานของไทย