‘คอนวูด’ เปิดเวทีประกวดโครงการ ‘แผงระแนงที่เปลี่ยนไป’ สร้างแรงบันดาลใจ แก่สถาปนิกรุ่นใหม่ ต่อยอดพัฒนาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์สู่ท้องตลาด
“แบบร่างที่มาจากไอเดียที่ดี ต้องนำไปพัฒนาเป็นสินค้าได้จริง” เป็นที่มาของแนวคิดโครงการแผงระแนงที่เปลี่ยนไปที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และคอนวูดที่เปิดโอกาสให้นิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ส่งผล
งานเข้าร่วมแข่งขันออกแบบแผงระแนงกันแดด โดยนำเอาปัญหาของอาคารสำนักงานแห่งหนึ่งที่หันไปทางทิศตะวันตกทำให้ได้รับแสงแดดอย่างเต็มที่มาเป็นโจทย์เพื่อให้นิสิตออกแบบแผงระแนง โดยคำนึงถึงความสวยงามของตัวอาคารเป็นหลัก และผลงานการออกแบบต้องนำไปใช้ได้จริงในเชิงพาณิชย์อีกด้วย…ซึ่งทั้งหมดคือจุดเริ่มต้นของโครงการประกวดออกแบบแผงระแนงไม้นี้
ย้อนกลับไปในเดือนตุลาคม ปี 2557 ที่ผ่านมา ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต จุลาสัย อดีตคณบดี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และ นายสรายุทธ ทรัพย์สุข ผู้ช่วยคณบดี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ นักวิชาการผู้ริเริ่มโครงการเล็งเห็นว่าปัจจุบันการนำเอาวัสดุสังเคราะห์มาออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์ตก
แต่งบ้านเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับสถาปนิกอย่างมาก เพราะนอกจากจะต้องคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยแล้ว ยังมีเรื่องความสวยงามที่จะต้องพิจารณามาเป็นอันดับหนึ่งด้วย จึงเป็นที่มาของแนวคิดที่จะถ่ายทอดความรู้ให้กับนิสิต คณะสถาปัตย์ จุฬาฯ โดยได้จับมือร่วมกับ “บริษัท คอนวูด จำกัด” จัดโครงการประกวดออกแบบภายใต้ชื่อโครงการ ‘แผงระแนงที่เปลี่ยนไป’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิชา ‘การออกแบบสถาปัตยกรรม (Architectural Design)’ ที่จะมุ่งส่งเสริมกิจกรรมพัฒนาทักษะและสร้างแรงบันดาลใจให้สถาปนิก นักออกแบบ นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และนิสิต นักศึกษา ได้ขยายขอบเขตไอเดียใหม่ๆ และสามารถนำไปต่อยอดใช้ได้จริงกับอาคารทุกประเภท ซึ่งมีนิสิตจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก
สำหรับเกณฑ์การตัดสินรางวัลชนะเลิศนั้นมองจากความคิดสร้างสรรค์และการนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงเป็นหลัก ซึ่งนิสิตที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายต้องนำเสนอผลงานต่อคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิระดับพระกาฬ อาทิ สรายุทธ ทรัพย์สุข ผู้ช่วยคณบดี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ชำนาญ คำไฮ สถาปนิกจากปูนซีเมนต์นครหลวง และกัญญารัตน์ รังสิโยภาส สถาปนิกพร้อมคณะผู้บริหารจากคอนวูด
‘สุทธิพันธ์ วัชโรภาส’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร คอนวูด กล่าวว่าผลงานที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายทั้ง 9 ผลงาน ต่างมีไอเดียโดดเด่นโดยผลงานแต่ละชิ้นถูกออกแบบให้เกิดมิติของแสงเงาที่สมดุล สามารถบังแดดได้จริง มีความสวยงาม และเกิดสุนทรียภาพต่อการมองเห็นอย่างดีเยี่ยม ซึ่งผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศนั้น คณะกรรมการมองว่าผลงานชิ้นนั้นต้องสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดสู่การผลิตสินค้าได้จริงด้วย
“เราไม่ต้องการเพียงแค่ผลงานที่โดดเด่นด้านดีไซน์การออกแบบเพียงอย่างเดียว แต่ต้องสามารถนำไปใช้ได้จริงกับอาคารสำนักงาน เป้าหมายของเราคือต้องการให้นิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์พัฒนาไปสู่การเป็นสถาปนิกนักออกแบบที่ดี จึงต้องคำนึงถึงความสวยงามและตอบโจทย์การใช้งานได้จริง ซึ่งทั้งสองส่วนต้องถูกผสมผสานอย่างลงตัวเพื่อสร้างชิ้นงานที่มีคุณค่าและสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ”
สำหรับบรรยากาศการแข่งขันนั้น นิสิตที่มีผลงานเข้ารอบสุดท้ายได้นำเสนอแนวคิดไอเดียการออกแบบต่อหน้าคณะกรรมการ ซึ่งถือเป็นด่านสำคัญในการนำเสนอผลงาน นิสิตแต่ละคนจะต้องเรียนรู้ที่จะเลือกใช้ทักษะและไหวพริบในการตอบคำถาม โดยคำถามจากกรรมการนั้นเปรียบได้กับกระจกเงาที่สะท้อนถึงแนวคิดของลูกค้าหรือผู้จ้างที่ต้องการสื่อสารบอกเล่าคอนเซ็ปต์ที่จับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุด ซึ่งรอบนี้ได้สร้างความท้าทายให้กับบรรดานิสิตผู้เข้าประกวด โดยเฉพาะกับ ‘นางสาวณัชชา สุวรรณสินพันธุ์’ นิสิตชั้นปีที่ 3 ที่ได้รับรางวัลชะเลิศไปครอบครองได้ในที่สุดจากผลงานภายใต้แนวคิด ‘WAVE’

เธอเล่าว่า วัสดุทดแทนไม้ที่มีคุณสมบัติเหมือนไม้จริงนั้น คนทั่วไปมองว่ามีความแข็งแรงแต่กระด้าง จึงออกแบบระแนงกันแดดให้เกิดความพลิ้วไหวเหมือนคลื่นในทะเล สะท้อนให้เห็นถึงโครงสร้างของแผงระแนงกันแดดในมุมมองใหม่ โดยเมื่อนำไปติดตั้งก็จะทำให้เกิดมิติตื้นลึกหนาบางไม่เท่ากันเปรียบเหมือนคลื่นน้ำในทะเล โดยเลือกใช้ไม้ตกแต่งพื้นหน้า 8 นิ้ว หนา 25 มม. ที่มีความแข็งแรง นำมาตัดแบ่งครึ่งแล้วปรับแต่งพื้นผิวสัมผัส เมื่อนำมาประกอบจะมีลักษณะเป็นเกลียวคลื่น ทำให้เกิดแสงเงาที่ตกกระทบไม่เท่ากันก่อให้เกิดความสวยงามสะดุดตา พร้อมป้องกันแสงแดดแก่ตัวอาคารอย่างกลมกลืน
“แรงบันดาลใจการออกแบบมาจากเกลียวคลื่น เวลาเดินผ่านชิ้นงานจะให้มุมมองแตกต่างตามองศาของสายตา ซึ่งเปรียบเสมือนแสงเงาที่ตกกระทบต่อแผงระแนงกันแดด ทำให้ตัวอาคารที่นำผลงานนี้ไปติดตั้งจะเกิดความสวยงามและสามารถลดแสงแดดที่ตกกระทบสู่ตัวอาคารได้จริง ทำให้ผู้อาศัยภายในอาคารรู้สึกสบายและผ่อนคลาย คล้ายกับมองคลื่นของทะเล” เธอกล่าว
เช่นเดียวกับ ‘กณิศา อธิภาส’ รองชนะเลิศอันดับที่ 1 เธอเล่าว่า แนวคิดการออกแบบ ‘ระแนงไม้’ เกิดจากความต้องการที่จะสร้างบรรยากาศให้กลมกลืนเหมือนอยู่ในธรรมชาติ โดยได้เลือกใช้ไม้พื้นหน้า 6 นิ้ว หนา 25 มม. เมื่อนำมาผลิตเป็นระแนงกันแดด แสงที่ตกกระทบจะทำให้รู้สึกเหมือนอยู่ในร่มเงาของต้นไม้และสัมผัสถึงความเป็นธรรมชาติได้อย่างลงตัว
นายชำนาญ คำไฮ และ นางสาวกัญญารัตน์ รังสิโยภาส คณะกรรมการที่เป็นตัวแทนจากสถาปนิกของปูนซีเมนต์นครหลวงและคอนวูด มีความเห็นสอดคล้องต่อผลงานนิสิตผู้ชนะเลิศอันดับ 1 ว่าเป็นงานออกแบบผลิตภัณฑ์ชั้นเลิศตามหลักการออกแบบของสถาปนิกชั้นนำ และที่สำคัญกว่านั้นคือนำไปต่อยอดพัฒนาสู่สินค้าได้จริง โดยคำนึงถึงการสร้างสรรค์นวัตกรรมสิ่งใหม่ที่ไม่ทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงจะเป็นสถาปนิกมืออาชีพได้ในอนาคต
หากโครงการดังกล่าวตอบโจทย์ได้จริง ๆ เราคงจะเห็นโครงการดีๆเช่นนี้เกิดขึ้นกับสังคมหรือหน่วยงานอื่น ๆ ได้อย่างแน่นอน