ความแตกต่างของ สบู่ธรรมชาติ และสบู่สังเคราะห์ จะแยกแยะออกจากกันได้อย่างไร เพราะในตลาดสบู่ในปัจจุบันล้วนแต่อ้างผลิตภัณฑ์ว่ามาจากธรรมชาติและมีส่วนผสมจากวัตถุดิบจากธรรมชาติ แต่ผู้บริโภคจะแยกแยะได้อย่างไร เพื่อให้ผู้ที่ต้องการซื้อสบู่แท้ๆจะได้รู้ว่าเราได้สบู่แท้ไม่ใช่ผลิตภัณฑ์คล้ายสบู่หรือทดแทนสบู่ การที่จะแยกแยะได้เราต้องทราบก่อนว่าสบู่คืออะไร และอะไรที่ทำมาเพื่อทดแทนสบู่ เพื่อที่จะให้ผู้ที่ต้องการใช้สบู่จริงๆผลิตด้วยสิ่งวัตถุดิบจากธรรมชาติเป็นหลักไม่สับสนไปกับสิ่งคล้ายสบู่และมาทดแทนสบู่ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ในตลาดขณะนี้

สบู่ธรรมชาติ
สบู่ธรรมชาติ เกิดมาจากการทำปฏิกิริยาของกรดไขมันและด่างซึ่งจะได้สบู่ 3 โมเลกุลและกลีเซอร์รีน 1 โมเลกุลเป็นของแถมซึ่งเราจะเรียกปฏิกิริยานี้ว่า Saponification ซึ่งมาจากภาษาละตินคำว่า Sapo แปลว่าสบู่ การค้นพบสบู่เกิดขึ้นครั้งแรกประมาณ 1,000 ปีก่อนคริสตศักราชในสมัยโรมันโบราณจากการสังเกตุของหญิงสาวชาวโรมันว่าในการซักผ้าในบริเวณลำธาร Tiber ว่าเสื้อผ้าจะมีความสะอาดมากเป็นพิเศษกว่าการซักในบริเวณอื่นๆ ซึ่งในบริเวณที่ใกล้ๆนั้นเองมีเนินเขาเนินหนึ่งชื่อว่า Sapo เป็นสถานที่ซึ่งนำสัตว์มาบูชายันต์ ไขมันจากซากสัตว์ที่ถูกนำมาบูชายันต์จะไหลรวมลงมากับน้ำผ่านขี้เถ้าที่เกิดจากการเผาไม้ลงมาผสมกับดินสะสมตัวอยู่ในบริเวณที่หญิงสาวชาวโรมันชอบมาซักผ้า ในต่อมาภายหลังจึงทราบว่าไขมันผสมกับด่างจะทำปฏิกิริยากลายเป็นสบู่ซึ่งใช้ซักล้างทำความสะอาดได้ดี ต่อมาได้มีพัฒนาและใช้แพร่หลายเรื่อยมา มีการนำเอาไขมันชนิดต่างๆมาผสมกับด่างเพื่อทำสบู่ซึ่งมีทั้งการใช้ไขมันจากสัตว์และพืช วิธีการทำสบู่ธรรมชาติมีเพียงสองวิธีเท่านั้นคือ วิธี Cold Process และวิธี Hot Process ทั้งสองวิธีจะคล้ายๆกันจะต่างกันตรงที่วิธี Cold Process จะปล่อยให้กรดไขมันกับด่างค่อยๆทำปฏิกิริยากันเองจนสมบูรณ์ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 4-6 สัปดาห์ ส่วนวิธี Hot Process จะใช้ความร้อนในการเร่งปฏิกิริยาซึ่งจะใช้เวลาไม่เกิน 48 ชั่วโมงก็สามารถนำมาใช้ได้เลย
สบู่สังเคราะห์
ในช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 เกิดการขาดแคลนไขมันอย่างมากในการทำสบู่ที่ใช้ซักล้าง ผู้คนจำนวนมากต้องการหาสิ่งทดแทนจึงมีการค้นคิดสารชะล้างขึ้นมาครั้งแรกในประเทศเยอรมันประมาณปี 1916 โดยการนำสารเคมีหลายๆตัวใส่ไว้ด้วยกัน ครั้งแรกก็ทำมาใช้ล้างมือซักเสื้อผ้าหรือล้างทำความสะอาดเครื่องมือสิ่งของ ในปี 1946 เริ่มมีการใช้แพร่หลายในอเมริกา และมีการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นโดยการใช้สารประกอบฟอสเฟตทำให้มีความสะอาดในการชะล้างได้สูงขึ้น ตั้งแต่ปี 1953 สารชะล้างเหล่านี้ก็ได้เข้ามาแทนสบู่ในทุกๆอย่าง ตั้งแต่ ล้างจาน ซักผ้า ไปจนถึงใช้ในการทำความสะอาดร่างกาย สารชะล้างที่นิยมกันจะเป็นพวก Sodium laurel sulfate และ cocamidopropyl betaine ซึ่งมีราคาถูก แต่ในปัจจุบันสารพวกกลุ่ม Sodium laurel sulfate อาจเป็นสารก่อมะเร็งได้ดังนั้นผู้บริโภคส่วนมากจะหลีกเลี่ยง ผู้ผลิตสบู่บางรายจึงหันมาใช้สารพวก Tetrasodium EDTA, Benzaldehyde, Triclosan, Peg-8, Polyethylene แทน สบู่ในท้องตลาดปัจจุบันจะเป็นสบู่สังเคราะห์เกือบทั้งหมด แม้แต่สบู่โฮมเมดที่ใช้วิธีซื้อเบสสบู่มาผสมสารบำรุงผิวแล้วเทใส่พิมพ์วางขายเป็นส่วนมากในตลาดก็เป็นเบสสบู่สังเคราะห์ นี่เป็นตัวอย่างส่วนประกอบของเบสสบู่ แบบ กลีเซอรีนใส ประกอบด้วย: Propylene Glycol, Sorbitol, Water, Sodium Laureth Sulfate, Sodium Palmitate, Sodium Myristate, Sodium Starate, Sodium Cocoyl Isethionate, Glycerine, Triethanolamine, Sodium Laurate ข้อดีของสบู่สังเคราะห์คือความสามารถในการทำความสะอาดสูง คุณภาพเสถียร ราคาถูก ข้อเสียก็คือสารเคมีต่างๆมีอันตราย สารบางตัวเป็นสารก่อให้เกิดมะเร็ง และเป็นอันตรายต่อผิวหนัง แต่อย่างไรก็ตามผู้บริโภคยังมีความนิยมใช้สบู่ประเภทนี้มากกว่าสบู่จากธรรมชาติ อันเนื่องมาจากรูปลักษณ์สวยงาม ราคาถูก และมีประสิทธิภาพสูง แม้จะแฝงไปด้วยอันตราย
สบู่ธรรมชาติจะหมายถึงสบู่ที่ผลิตมาจากปฏิกิริยา Saponification คือการนำเอาไขมันมาทำปฏิกิริยากับด่างจะได้สบู่และกลีเซอรีนออกมา แต่สบู่สังเคราะห์ ซึ่งจริงๆแล้วไม่ใช่สบู่ควรจะเรียกว่าสารชะล้างมากกว่า เพื่อไม่ให้ผู้บริโภคสับสนควรจะเลิกเรียกว่า “สบู่” หรือ ” Soap” อย่างไรก็ตามมันก็มีจุดประสงค์อันเดียวกันคือทำความสะอาดร่างกาย ในเมื่อตลาดสบู่ของเราไม่ได้แยกประเภทออกมาชัดเจนผู้บริโภคที่ต้องการใช้สบู่ธรรมชาติจริงทำอย่างไรจึงจะแยกออก เรามีข้อแนะนำตรงนี้อย่างง่ายๆที่สุดให้ดูตรงสลากข้างกล่อง สบู่สังเคราะห์จะมีองค์ประกอบสำคัญคือสารชะล้าง เช่น Sodium Laureth Sulfate, cocamidopropyl betaine, Tetrasodium EDTA, Benzaldehyde, Triclosan, Peg-8, Polyethylene เป็นต้น แต่สบู่ธรรมชาติหรือสบู่จริงๆ ส่วนประกอบจะเป็นน้ำมันและด่างเป็นหลัก ตัวอย่างส่วนประกอบของสบู่ธรรมชาติ เช่น coconut oil, palm oil, extra virgin olive oil, sweet almond oil, castor oil, cocoa butter, honey, water, sodium hydroxide, aloe Vera ส่วนการแยกแยะจากรูปลักษณ์ภายนอกนั้นคนที่ชำนาญหรือคนทำสบู่ก็คงดูได้ไม่ยากว่าสบู่จริงกับสบู่สังเคราะห์แยกจากกันอย่างไร