วันสิ่งแวดล้อมโลก (World Environment Day) เป็นวันที่ได้รับการประกาศจากองค์การสหประชาชาติ ตรงกับวันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปี สืบเนื่องมาจากโลกของเราเกิดวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง เพื่อให้เกิดความร่วมมือและรู้ทันเหตุการณ์ จึงได้มีการจัดประชุมใหญ่ระดับโลกขึ้นที่ กรุงสตอกโฮลม์ ประเทศสวีเดน ในช่วงวันที่ 5-16 มิถุนายน พ.ศ. 2515 โดยมีรัฐบาลของประเทศสวีเดนเป็นประธานในการประชุมในครั้งนั้น
วันสิ่งแวดล้อมโลก หรือ World Environment Day นั้นก่อตั้งขึ้นเพื่อให้เกิดความตื่นตัวในด้านวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อมขึ้นทั่วโลก จึงมีมติให้จัดประชุมใหญ่ที่กรุงสตอกโฮลม์ ระหว่างวันที่ 5-16 มิถุนายน พ.ศ. 2515 โดยรัฐบาลของสวีเดนเป็นเจ้าภาพ ซึ่งเรียกการประชุมนี้ว่า "การประชุมสหประชาชาติเรื่องสิ่งแวดล้อมของมนุษย์" หรือ "UN Conference on the Human Environment" ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 1,200 คน จาก 113 ประเทศ รวมถึงมีผู้สังเกตการณ์อีกกว่า 1,500 คน จากหน่วยงานของรัฐ องค์การสหประชาชาติ และสื่อมวลชนแขนงต่างๆ เพื่อร่วมกันหาหนทางแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ประเทศต่าง ๆ กำลังเผชิญอยู่ ซึ่งผลจากการประชุมครั้งนั้นได้มีข้อตกลงร่วมกันหลายอย่าง เช่น การจัดตั้งโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP: United Nations Environment Programme) ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงไนโรบี ประเทศเคนยา และรัฐบาลประเทศต่างๆ ก็ได้รับข้อตกลงจากการประชุมคราวนั้น ไปจัดตั้งหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นในประเทศของตน ดังนั้นเพื่อเป็นการระลึกถึงจุดเริ่มต้นของการร่วมมือ จากหลากหลายชาติในด้านสิ่งแวดล้อม องค์การสหประชาชาติจึงได้ประกาศให้วันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปีเป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก
และในแต่ละปี จะมีการออกคำขวัญวันสิ่งแวดล้อมโลก เพื่อรณรงค์ให้ตระหนักถึงปัญหาในกระแสซึ่งทุกประเทศทั่วโลกต่างเผชิญร่วมกัน โดยปีนี้ได้ออกคำขวัญ "Raise your voice not the sea level" หรือ "ยกระดับความคิด แก้วิกฤตน้ำท่วมโลก" เพื่อเน้นความสำคัญของปัญหาการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลอันเนื่องมาจากความแปรปรวนของสภาพอากาศ ซึ่งส่งผลให้หลายพื้นที่ทั่วโลกตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะจมอยู่ใต้ทะเลที่มีระดับสูงขึ้น อีกทั้งยังสร้างปัญหาการรุกล้ำของน้ำทะเล ปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในแต่ละประเทศทุกทวีปทั่วโลก สร้างความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สิน และระบบเศรษฐกิจของแต่ละประเทศอย่างใหญ่หลวง ซึ่ง UNEP หวังให้ทุกประเทศเกิดความตื่นตัวและร่วมกันหาทางออกจากวิกฤตนี้ด้วยกัน
สิ่งที่ควรทำร่วมกันรักษาสภาพแวดล้อมของโลก
มาเสริมสร้างจิตสำนึกต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพื่อจะได้มีสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อไปในอนาคต และมาร่วมช่วยกันป้องกันไม่ให้สิ่งแวดล้อมเกิดการเสื่อมลงมากยิ่งขึ้น เพราะปัญหาของสิ่งแวดล้อมนั้นเกิดขึ้นจากการกระทำของคนทั้งสิ้น การแก้ไขและวางแผนเพื่อปรับปรุงคุณภาพของสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะ ปัญหาการขาดแคลนน้ำเป็นปัญหาสำคัญที่สุดในเมืองไทย สาเหตุเกิดจากการลดจำนวนลงของพื้นที่ป่าไม้ที่เป็นต้นน้ำลำธารของประเทศ และจากการใช้น้ำกันอย่างฟุ่มเฟือย
ช่วยกันปลูกต้นไม้
มาช่วยกันเสริมสร้างปลูกจิตสำนึกต่อสิ่งแวดล้อม และการสร้างทัศนคติในการอนุรักษ์ทรัพยากรกลับมาใช้อย่างรู้คุณค่า ควรจะมาร่วมรณรงค์และประหยัดทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ร่วมมือร่วมใจกันรักษาสภาพแวดล้อมให้ดีต่อไปในอนาคต เพื่อลูกหลานของเรา เราทุกคนควรมีส่วนช่วยลดปริมาณขยะและรักษาทรัพยากรสิ่งแวดล้อมให้สดใส สมบูรณ์สำหรับทุกคนในอนาคต
การพัฒนาคุณภาพประชาชน
เพื่อให้ประชาชนเกิดความตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นในการอนุรักษ์ เกิดความรักความหวงแหน และให้ความร่วมมืออย่างจริงจัง สนับสนุนการศึกษาด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถทำได้ทุกระดับอายุ ทั้งในระบบโรงเรียนและสถาบันการศึกษาต่างๆ และนอกระบบโรงเรียนผ่านสื่อสารมวลชนต่างๆ
การจัดตั้งกลุ่ม
ด้วยจิตสำนึกในความมีคุณค่าของสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรที่มีต่อตัวเรา การจัดตั้งกลุ่มชุมชน ชมรม สมาคม เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การให้ความร่วมมือทั้งทางด้านพลังกาย พลังใจ พลังความคิด เช่น กลุ่มชมรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของนักเรียน นักศึกษา มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร มูลนิธิโลกสีเขียว
ไม่ควรทิ้งผลิตภัณฑ์อันตรายลงแม่น้ำ
เมื่อใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตราย อาทิ ผลิตภัณฑ์ที่ติดไฟ น้ำยาละลายสี น้ำมันเชื้อเพลิง ผลิตภัณฑ์ที่เป็นกรด ผลิตภัณฑ์ที่เป็นพิษ ฯลฯ ต้องมีวิธีกำจัดที่ถูกต้องและต้องไม่ทิ้งลงแม่น้ำ
การเพิ่มออกซิเจนในน้ำมันก็เพื่อช่วยลดปริมาณการเกิดของก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ให้ลดน้อยลง เป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยลดมลพิษจากรถยนต์ ด้วยการเพิ่มส่วนผสมของออกซิเจนในน้ำมัน ทุกครั้งที่เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องให้ถ่ายเทน้ำมันเครื่องที่ใช้แล้วลงในภาชนะที่ปิดฝาแล้วส่งคืนให้กับสถานีบริการ เพราะน้ำมันเครื่องที่ใช้แล้วจากรถยนต์ จะก่อมลภาวะให้เกิดกับแหล่งน้ำและผิวดินได้หากมีการกำจัดที่ไม่เหมาะสม