- สันติภาพใน 92 ประเทศลดลง ขณะที่สันติภาพใน 71 ประเทศปรับตัวดีขึ้นในช่วงปี 2559-2560 ซึ่งถือว่าย่ำแย่ที่สุดในรอบ 4 ปี
- ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศที่มีสันติภาพมากขึ้นมีอัตราการขยายตัวของจีดีพีสูงกว่าถึง 7 เท่าเมื่อเทียบกับประเทศที่มีสันติภาพลดลง
- ค่าใช้จ่ายทางการทหารซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของจีดีพีได้ลดลงในหลายประเทศมากกว่าที่จะเพิ่มขึ้น
- จำนวนผู้เสียชีวิตจากการสู้รบในแต่ละปีมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยพุ่งขึ้น 264% ในช่วงเวลาดังกล่าว
- ทั้งยุโรปและอเมริกาเหนือกลายเป็นภูมิภาคที่มีสันติภาพน้อยลงในปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับอีก 4 ภูมิภาค โดย 23 จาก 36 ประเทศในยุโรปมีสันติภาพลดลง
- ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากความรุนแรงอยู่ที่ 14.8 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2560 หรือ 12.4% ของจีดีพีทั่วโลก ซึ่งคิดเป็นมูลค่าเกือบ 2,000 ดอลลาร์ต่อคน
- เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ที่ผู้ลี้ภัยมีสัดส่วนเกือบ 1% ของประชากรโลกในปี 2560 ซึ่งมากกว่าประชากรทั้งหมดของสหราชอาณาจักร หรือเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรรัสเซีย
รายงาน Global Peace Index (GPI) ประจำปีฉบับที่ 12 ซึ่งจัดทำขึ้นโดยสถาบันวิจัยระหว่างประเทศ Institute for Economics and Peace (IEP) เผยให้เห็นว่า ทุกวันนี้โลกมีความสงบสุขน้อยที่สุดในรอบทศวรรษ
(โลโก้: https://mma.prnewswire.com/media/700115/Institute_for_Economics_and_Peace_Logo.jpg )
ดัชนี GPI ประจำปี 2561 เผยให้เห็นว่า โลกของเราเผชิญกับความตึงเครียด ความขัดแย้ง และวิกฤตการณ์มากมายในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และยังคงไม่ได้รับการแก้ไข ส่งผลให้สันติภาพค่อยๆลดลงอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยที่มีผลมากที่สุดต่อการถดถอยของสันติภาพในปีที่ผ่านมาก็คือ การขยายตัวของความขัดแย้งทางอาวุธทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ ความรุนแรงทางการเมืองที่เพิ่มขึ้น และความหย่อนยานในการปฏิบัติตามแนวทางสันติภาพขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) โดยซีเรีย อัฟกานิสถาน เซาท์ซูดาน อิรัก และโซมาเลีย เป็นประเทศที่มีสันติภาพน้อยที่สุด ขณะที่ไอซ์แลนด์ นิวซีแลนด์ ออสเตรีย โปรตุเกส และเดนมาร์ก เป็นประเทศที่สงบสุขมากที่สุด
ดัชนี GPI เป็นตัวชี้วัดความสงบสุขทั่วโลก รายงานนี้ครอบคลุมประชากร 99.7% ของโลก โดยใช้ดัชนีชี้วัดเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณ 23 ตัวจากแหล่งข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือสูงในการทำดัชนี ตัวชี้วัดเหล่านี้ถูกจัดเป็นสามกลุ่มหลักๆ ได้แก่ "ความขัดแย้งที่ยังดำเนินอยู่" "ความปลอดภัยและความมั่นคง" และ "การดำเนินการทางทหาร" โดยสถานการณ์ของทั้งสามกลุ่มย่ำแย่ลงในช่วงปีที่ผ่านมา
แม้จะสามารถรักษาสถานะภูมิภาคที่สงบสุขที่สุดในโลกเอาไว้ได้ แต่ยุโรปก็มีสันติภาพลดลงเป็นปีที่สามติดต่อกัน และนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของดัชนีที่ประเทศในยุโรปตะวันตกติด 1 ใน 5 ประเทศที่มีสันติภาพลดลงมากที่สุด โดยสเปนร่วงลง 10 อันดับมาอยู่ที่อันดับ 30 อันเนื่องมาจากความตึงเครียดทางการเมืองภายในประเทศ และผลกระทบจากการก่อการร้ายที่เพิ่มมากขึ้น ในทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศในยุโรป 61% มีสันติภาพลดลง เนื่องจากความไร้เสถียรภาพทางการเมืองที่สูงขึ้น ผลกระทบจากการก่อการร้ายที่เพิ่มมากขึ้น และการรับรู้เกี่ยวกับอาชญากรรมที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ทุกประเทศในกลุ่มนอร์ดิกยังมีความสงบสุขน้อยลงเมื่อเทียบกับปี 2551
สตีฟ คิลเลเลีย ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารของ IEP กล่าวว่า "โลกเรามีความก้าวหน้าในหลายๆด้านในทศวรรษที่ผ่านมา แต่ยังคงไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการมีสันติภาพเพิ่มขึ้น ความท้าทายนี้ได้รับการพิสูจน์ในการวิจัยของเรา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการสร้างสันติภาพมีความยากลำบากกว่ามากเมื่อเทียบกับการทำลายสันติภาพ จึงอธิบายได้ว่าเหตุใดประเทศที่มีดัชนีอยู่ในระดับล่างจึงยังคงติดอยู่กับความขัดแย้งที่ยืดเยื้อ โดยความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในซีเรีย เยเมน ลิเบีย และอัฟกานิสถานในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา มีส่วนทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตจากการสู้รบ จำนวนผู้ลี้ภัย และการก่อการร้ายเพิ่มขึ้นอย่างมาก
"ยุโรปซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีความสงบสุขมากที่สุดก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน โดย 23 จาก 36 ประเทศมีสันติภาพลดลงในปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากความตึงเครียดทางการเมืองที่เพิ่มขึ้นและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ย่ำแย่ลง"
น่าแปลกใจที่ดัชนีชี้วัดที่มีการปรับตัวดีขึ้นมากที่สุดในปีที่แล้ว คือค่าใช้จ่ายทางการทหารซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของจีดีพี โดยมี 88 ประเทศใช้จ่ายน้อยลงและ 44 ประเทศใช้จ่ายมากขึ้น ค่าใช้จ่ายทางการทหารของประเทศโดยเฉลี่ยคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของจีดีพียังคงลดลงต่อเนื่องตลอดทศวรรษ โดย 102 ประเทศใช้จ่ายน้อยลง ขณะที่ 3 ใน 5 ประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวียเป็นผู้ส่งออกอาวุธรายใหญ่ที่สุดเมื่อวัดเป็นเปอร์เซ็นต์ของจีดีพี
ผลกระทบจากความรุนแรงที่มีต่อเศรษฐกิจโลกในปี 2560 มีมูลค่าถึง 14.8 ล้านล้านดอลลาร์ในแง่ความเสมอภาคของอำนาจซื้อ (PPP) ตัวเลขนี้คิดเป็น 12.4% ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก (ผลิตภัณฑ์มวลรวมโลก) หรือ 1,988 ดอลลาร์ต่อคน ผลกระทบทางเศรษฐกิจอันเกิดจากความรุนแรงเพิ่มขึ้น 2% ในปี 2560 เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่เกิดจากความขัดแย้งและค่าใช้จ่ายเพื่อรักษาความมั่นคงภายในปรับตัวสูงขึ้น โดยการใช้จ่ายด้านความมั่นคงเพิ่มขึ้นมากที่สุดในจีน รัสเซีย และแอฟริกาใต้