อีอีซีเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญและผลักดันให้เกิดขึ้นโดยเร็ว จึงได้จัดตั้งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษใน 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ซึ่งจะประกอบด้วยโครงการใหญ่ ๆ หลายโครงการ เริ่มจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเป็นหลัก เช่น โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา, โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3, โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3, และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน: ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา
โครงการเหล่านี้เป็นความร่วมมือทางการลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) และจำเป็นต้องดึงดูดนักลงทุนรายใหญ่ ๆ ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ

Global Times สื่อในเครือ People's Daily ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ลงข่าวการสัมภาษณ์นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 21 มิ.ย. ที่ผ่านมา ในประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี โดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน
เจ้าสัวธนินท์แห่งเครือเจริญโภคภัณฑ์เป็นมิตรที่ดีของประเทศจีนมายาวนาน โดยเป็นนักลงทุนต่างชาติที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการรายแรกของจีนแผ่นดินใหญ่ กับใบอนุญาตสำหรับนักลงทุนต่างชาติหมายเลข 001
นอกจากนั้นยังมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่แน่นแฟ้นกับบริษัทในญี่ปุ่น โดยเครือซีพีถือหุ้นไขว้กับกลุ่มอิโตชูของประเทศญี่ปุ่น และยังดำเนินธุรกิจร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ซึ่งเป็นเครือข่ายค้าปลีกของญี่ปุ่น กว่า 10,000 สาขาในประเทศไทยด้วย
เจ้าสัวธนินท์ให้ความเห็นว่า ญี่ปุ่นแสดงความสนใจเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการอีอีซี ซึ่งเป็นโครงการที่สามารถเชื่อมต่อกับโครงการ One Belt One Road (หรือ Belt & Road Initiative = B&R) ของจีนได้ และแม้ว่าเราจะมีข้อตกลงความร่วมมือในระดับรัฐบาล ขณะเดียวกันเราก็ยังต้องเชื่อมโยงภาคเอกชนและผู้ประกอบการภายใต้โครงการ One Belt One Road ให้เติบโตไปด้วยกัน ผ่านการทำงานร่วมกันอีกด้วย
ดังนั้น บริษัททั้งจากจีนและญี่ปุ่นจึงต่างได้รับการสนับสนุน ให้เข้ามาทำงานร่วมกันในโครงการอีอีซี ซึ่งจะเป็นภาพความร่วมมือที่ดีของทุกฝ่าย ในการช่วยกันพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย
“โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ไม่เพียงต้องเกิดจากความร่วมมือของบริษัทในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังต้องต้อนรับการร่วมลงทุนระหว่างประเทศด้วย เพราะความร่วมมือในการทำงาน และการเติบโตไปด้วยกัน ระหว่างบริษัทในประเทศและต่างประเทศ จะยิ่งดึงดูดบริษัทอื่น ๆ ทั่วโลก ให้หันมาสนใจลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น” ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์กล่าว

จะเห็นได้ว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทั้งจีนและญี่ปุ่นต่างช่วงชิงข้อได้เปรียบทางการแข่งขันในประเทศไทย เพื่อให้เทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงของตนชนะ แต่ปัจจุบันสถานการณ์ได้ปรับเปลี่ยนไปสู่บรรยากาศของความร่วมมือกันมากขึ้น
เจ้าสัวธนินท์ กล่าวว่า ยินดีทำงานร่วมกับบริษัททั้งจากจีนและญี่ปุ่น เพื่อร่วมกันพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งโครงการนี้ในทางเทคนิคควรจะสามารถเชื่อมต่อได้กับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย – จีน และเส้นทางในยุโรป เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงในภาพรวมถึงกันได้หมด จึงไม่สามารถใช้เทคโนโลยีที่จำกัดอยู่แค่ในเครือข่ายทางรถไฟของไทย หรือใช้เทคโนโลยีของญี่ปุ่นได้ ทางที่ดีที่สุดคือใช้เทคโนโลยีของยุโรป เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะสามารถเชื่อมต่อกันได้ทั่ว ซึ่งจีนเองก็ควรต้องปรับเปลี่ยนเล็กน้อยในจุดนี้ด้วย
“เส้นทางรถไฟเหล่านี้ควรจะสามารถเชื่อมต่อกับอินเดียและยุโรปได้ในอนาคต เพราะหมายถึงการเชื่อมโยงกับผู้คนกว่า 3 พันล้านคน ซึ่งจะมีคุณค่าต่อสังคมและเศรษฐกิจอย่างมหาศาล”
และแม้ว่าประเทศไทยจะมีโครงการรถไฟความเร็วสูงหลายโครงการที่กำลังก่อสร้างหรืออยู่ในแผน แต่เจ้าสัวธนินท์ก็เชื่อมั่นว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินสู่อีอีซี จะเป็นโครงการรถไฟความเร็วสูงสายแรกของประเทศไทยที่เกิดขึ้นจริง
--------------------------------
แหล่งข้อมูล:
Thai magnate calls for joint HSR efforts http://www.globaltimes.cn/content/1108241.shtml
--------------------------------
ที่มา: OKNation