6 ยักษ์ใหญ่ ชิงเค้กดิวตี้ฟรีสุวรรณภูมิ

ได้ข้อสรุปกันไปแล้วสำหรับผลการประมูลพื้นที่จำหน่ายสินค้าปลอดอากร (Duty Free) และพื้นที่เชิงพาณิชย์ (Commercial Area) ภายในอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 สนามบินอู่ตะเภาของกองทัพเรือ ปรากฏว่า กลุ่ม บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูลพื้นที่จำหน่ายสินค้าปลอดอากร จากที่มีผู้เข้าร่วมประมูลทั้งหมด 5 รายประกอบด้วย 1.บริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด 2. Central DFS Consortium (กิจการร่วมทำงานระหว่างบริษัทสรรพสินค้าเซ็นทรัลกับ DFS Venture จากสิงคโปร์) 3.ล็อตเต้ ดิวตี้ฟรี (ประเทศไทย) จากเกาหลีใต้ 4. บางกอก แอร์เวย์ โฮลดิ้ง และ 5.บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด
ส่วนพื้นที่เชิงพาณิชย์ บนพื้นที่ประมาณ 1,400 ตารางเมตร นั้น กลุ่มเซ็นทรัลในนาม บริษัท Central DFS Consortium เป็นผู้ชนะการประมูลจากที่มีผู้สนใจ 7 ราย คือ 1.บริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด 2.Central DFS Consortium 3.เดอะมอลล์กรุ๊ป 4. บริษัท ซีเล็ค เซอร์วิส พาร์ทเนอร์ จำกัด ( บริษัทร่วมทุนระหว่างไมเนอร์ ฟู้ด กับเอสเอสพี อินเตอร์เนชั่นแนล : SSP International บริษัทผู้ดำเนินธุรกิจร้านอาหารในสนามบินหลายประเทศ) 5.บางกอกแอร์เวย์โฮลดิ้ง 6.บริษัท สรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด และ 7.บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล
กล่าวถึงผลประโยชน์ที่แต่ละฝ่ายนำเสนอนั้น กองทัพเรือในฐานะเจ้าของสนามบินอู่ตะเภา จะเปิดเผยข้อมูลอีกครั้งหลังจากลงนามในสัญญาแล้ว โดยสัญญาดังกล่าวมีอายุ 10 ปี มูลค่าการลงทุนไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท ทั้งนี้ภาคเอกชนจะต้องจ่ายผลตอบแทนไม่ต่ำกว่า 12% ของรายได้ก่อนหักภาษี หรือรายได้ขั้นต่ำที่เอกชนเสนอขึ้นมา
ขณะที่จุดส่งมอบสินค้าปลอดอากร หรือ Pick Up Counter ซึ่งเป็นบริการที่เอกชนหลายกลุ่มต้องการจะครอบครองปรากฏว่าสนามบินอู่ตะเภา “ผ่าทางตัน” โดยเป็นผู้ดำเนินการเองและเปิดให้บริการกับทุกร้านค้าปลอดภาษี
ผลการประมูลยกแรกที่สนามบินอู่ตะเภาจะเห็นได้ว่า แชมป์เก่าอย่างคิง เพาเวอร์สามารถรักษาพื้นที่สำคัญ พื้นที่ Duty Free ไว้ได้อย่างเหนียวแน่น และกลุ่มเซ็นทรัล ที่ได้รับแรงสนับสนุนจาก DFS สิงคโปร์ สามารถแบ่งเค้กพื้นที่เชิงพาณิชย์ไปได้ ขณะที่กลุ่มล็อตเต้ เกาหลีใต้ คู่แค้นคนสำคัญของคิง เพาเวอร์ “รับประทานแห้ว”
สนามบินสุวรรณภูมิ
เปิดประมูลเทอร์มินอล 1
อย่างไรก็ตามในส่วนของสนามบินสุวรรณภูมิล่าสุดได้ข้อยุติแล้ว เมื่อคณะกรรมการบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. มีมติเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายนที่ผ่านมา จะเปิดประมูล Duty Free พื้นที่เชิงพาณิชย์ และ Pick Up Counter เฉพาะอาคารผู้โดยสาร 1 หรือเทอร์มินอล 1 (พื้นที่เดิมที่คิง เพาเวอร์ได้รับสัมปทาน) และพื้นที่อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (อาคารแซทเทิลไลท์) พร้อมกับให้ชะลอการประมูล ดิวตี้ฟรีฯ ของอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ออกไปก่อน เพื่อสอบถามความชัดเจนเกี่ยวกับแผนแม่บทท่าอากาศยานสุวรรณภูมิไปทางองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization) หรือ ICAO ก่อน

ด้วยเหตุนี้ทำให้หลายฝ่ายจับตามองและเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิดว่า ทีโออาร์ ( Term of Reference) ของการประมูล Duty Free และพื้นที่เชิงพาณิชย์ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะออกมาเป็นรูปแบบใด เพราะสัญญาเดิมกำลังจะหมดอายุสัมปทานลงในปี 2563 แนวทางของ TOR นั้นสามารถออกได้หลายหน้า โดยทาง ทอท. ได้ให้ผู้เชี่ยวชาญมาทำการศึกษาหาแนวทางที่เหมาะสม และสอดคล้องกับการทำงานในปัจจุบันของธุรกิจ อาทิ ให้สัมปทานทั้งหมดกับรายใหญ่เพียงรายเดียว ( master concession) หรือเช่นเดียวกับการประมูลที่สนามบินอู่ตะเภา คือ การแยกพื้นที่ดิวตี้ฟรีออกจากพื้นที่ค้าปลีก โดยแต่ละพื้นที่ให้เอกชนเพียงรายเดียวได้รับสัมปทาน หรือ ให้สัมปทานตามกลุ่มสินค้า (muitiple concessions by Category) หรือ ให้สัมปทานตามกลุ่มสินค้าและตามที่ตั้ง (muitiple concessions by Category and by location)
เช่นเดียวกัน Pick Up Counter หรือจุดส่งมอบสินค้าปลอดอากร คาดว่า จะเปิดให้บริการแบบทั่วไป เพียงแต่ว่าบริษัทการท่าอากาศยานไทย จะเข้ามาดำเนินการเองเหมือนสนามบินอู่ตะเภาหรือเปิดประมูล ให้เอกชนบริหารงาน
รายงานข่าวแจ้งว่า TOR ร้านค้าปลอดอากร พื้นที่เชิงพาณิชย์ และ Pick Up Counter ทอท.น่าจะหาบทสรุปและประกาศออกมาได้ไม่เกินช่วงเดือนมกราคม 2562