ไม่เกินคาดเดาสักเท่าไหร่นัก สำหรับตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ออกมาในไตรมาส 2 โดยล่าสุดคลังเพิ่งออกมาบอกว่าเศรษฐกิจไทยขณะนี้ติดลบต่ำสุดในประวัติการณ์ที่ 8.5% จากโควิด-19 แต่ก็ยังมีความหวังว่าจะฟื้นตัวดีขึ้นในไตรมาส 3-4 เรียกว่าหนักสุดๆ ในรอบ 22 ปี นับตั้งแต่ปี 2541 ช่วงวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง
คนทำธุรกิจหลายๆคนบอกว่าปี 2563 เป็นปีที่หนักและท้าทายสำหรับการพาธุรกิจเอาตัวรอดให้ได้ และการจะผ่านวิกฤติ COVID19 ที่เรากำลังเจออยู่นี้ไปได้ จำเป็นต้องอาศัยสติ วิธีคิด กลยุทธ์ และการลงมือทำอย่างรัดกุม มีโอกาสได้ เมื่อเร็วๆนี้ได้อ่านบทสัมภาษณ์ที่น่าสนใจเป็นแนวทางในการเอาตัวรอดในการทำธุรกิจช่วงนี้จากนักธุรกิจอาวุโสอย่างเจ้าสัว 'ธนินท์ เจียรวนนท์' แกแนะนำ "กลยุทธ์ตัวเบา" สำหรับคนทำธุรกิจพวกภัตตาคาร ร้านอาหาร เลยอยากเอามาแชร์ให้อ่านกัน เจ้าสัว แนะยุทธวิธีมา 2 ข้อ
ความปลอดภัยอาหารต้องมาอันดับแรก ความปลอดภัยในร้านอาหาร ภัตตาคารและร้านอาหารต่าง ๆ ลงทุน ต้องวางระบบห้องอาหารในรูปแบบ Clean room สร้างระบบอากาศหมุนเวียน ใช้เครื่องกรองอากาศระบบฆ่าเชื้อด้วยแสง UV ที่คอยหมุนเวียนอากาศออกให้ถ่ายเท จะทำให้ร้านอาหารและธุรกิจร้านอาหารมีความปลอดภัยจากเชื้อโรค ซึ่งจะสร้างความมั่นใจให้ผู้เข้ามาใช้บริการ
รุกบริการดิลิเวอรี่ แบบเต็มสูบ เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน การรับประทานอาหารนอกบ้านของวิถีชีวิตใหม่อาจจะลดน้อยลง
นอกจากนี้เจ้าสัวยังแนะให้ผู้ประกอบการร้านอาหารใช้กลยุทธ์ "ตัวเบา" คือ ขยายไลน์การสินค้าอื่นเพิ่มเติมจากการจำหน่ายอาหาร โดยไม่ต้องลงทุนอุปกรณ์ที่หนักทั้งเงินและสร้างภาระ แต่ให้ใช้ภัตตาคารและร้านอาหารเป็นช่องทางนำสินค้าที่ลูกค้าของร้านจำเป็นต้องใช้มาจำหน่ายเพิ่มเติม เพื่อเป็นการเสริมรายได้
"ยุค 4.0 อะไรก็เกิดขึ้นได้ ขายอะไรก็ได้ อย่าจำกัดแต่การขายอาหาร ลูกค้าที่มารับประทานที่ร้านหรือภัตตาคารก็ต้องการสินค้าอื่นด้วย ต้องไปสำรวจความต้องการของลูกค้า เถ้าแก่ที่เป็นเจ้าของร้านก็สามารถแนะนำให้ลูกค้าซื้อได้ ซึ่งจะเพิ่มกำไรเข้าร้าน อย่าไปคิดว่าภัตตาคารร้านอาหารต้องขายอาหารอย่างเดียว" นายธนินท์ กล่าว
วิกฤติคือบททดสอบอย่างดีว่าที่ผ่านมาเราได้ทำธุรกิจอย่างรัดกุมมากน้อยขนาดไหน และเราสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ในระดับใด ไม่มีกลยุทธ์ไหนถูกหรือผิด แค่ต้องนำไปทดลองใช้และให้ผลลัพธ์เป็นตัวชี้ว่าควรทำต่อไปหรือไม่
ยังไงก็ขอเอาใจช่วยผู้ประกอบการทุกคน ให้ฝ่าวิกฤติ COVID19 นี้ไปด้วยกัน