สถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ (Institute for Economics & Peace: IEP) เปิดเผยรายงาน Ecological Threat Register (ETR) ฉบับปฐมฤกษ์ ซึ่งเป็นการวัดภัยคุกคามทางระบบนิเวศที่หลายประเทศกำลังเผชิญอยู่ รวมถึงคาดการณ์สถานการณ์ไปจนถึงปี 2593 รายงานฉบับนี้ผนวกการวัดความสามารถในการฟื้นตัวกับข้อมูลทางระบบนิเวศที่ครอบคลุมที่สุด เพื่อระบุประเทศที่มีแนวโน้มว่าจะรับมือกับผลกระทบทางระบบนิเวศอันรุนแรงได้น้อยที่สุด ทั้งนี้ IEP เป็นองค์กรคลังสมอง (Think Tank) ชั้นนำระดับโลกที่จัดทำดัชนีต่าง ๆ เช่น ดัชนีสันติภาพโลกและดัชนีก่อการร้ายโลก เป็นต้น
ผลการค้นพบสำคัญ
- 19 ประเทศที่เผชิญภัยคุกคามทางระบบนิเวศมากที่สุด คือประเทศที่ติดอันดับ 40 ประเทศที่สงบสุขน้อยที่สุดในโลก เช่น อัฟกานิสถาน ซีเรีย อิรัก ชาด อินเดีย และปากีสถาน
- ประชากรโลกกว่า 1 พันล้านคนที่อาศัยอยู่ใน 31 ประเทศที่ไม่มีความสามารถในการฟื้นตัวมากพอที่จะต้านทานผลกระทบทางระบบนิเวศ อาจต้องย้ายถิ่นขนานใหญ่ภายในปี 2593
- ภูมิภาคแอฟริกาใต้สะฮารา เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกาเหนือ เผชิญกับภัยคุกคามทางระบบนิเวศมากที่สุด
- ภายในปี 2583 ประชากร 5.4 พันล้านคน หรือมากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรโลกทั้งหมดในตอนนั้น จะอาศัยอยู่ใน 59 ประเทศที่เผชิญกับความเครียดเนื่องจากน้ำ (Water stress) อย่างมากหรือรุนแรงมาก ซึ่งรวมถึงอินเดียและจีน
- ประชากรโลก 3.5 พันล้านคนอาจเผชิญสถานการณ์ความไม่มั่นคงทางอาหารภายในปี 2593 ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 1.5 พันล้านคนในปัจจุบัน
- การขาดความสามารถในการฟื้นตัวของประเทศต่าง ๆ จะทำให้สถานการณ์ความไม่มั่นคงทางอาหารย่ำแย่ลงและเกิดการแย่งชิงทรัพยากร ก่อให้เกิดความไม่สงบและการย้ายถิ่นขนานใหญ่ ส่งผลให้ผู้ลี้ภัยไหลบ่าเข้าสู่ประเทศพัฒนาแล้วมากยิ่งกว่าเดิม
รายงาน Ecological Threat Register วิเคราะห์ความเสี่ยงจากการเพิ่มขึ้นของประชากร ความเครียดเนื่องจากน้ำ ความไม่มั่นคงทางอาหาร ภัยแล้ง อุทกภัย พายุไซโคลน ระดับน้ำทะเลและอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น โดยพบว่าในช่วงเวลา 30 ปีข้างหน้า 141 ประเทศจะเผชิญกับภัยคุกคามทางระบบนิเวศอย่างน้อยหนึ่งอย่างภายในปี 2593 ขณะที่ 19 ประเทศที่เผชิญภัยคุกคามทางระบบนิเวศมากที่สุดมีประชากรรวมกันกว่า 2.1 พันล้านคน หรือราว 25% ของประชากรโลกทั้งหมด
รายงาน ETR วิเคราะห์ระดับความสามารถในการฟื้นตัวทางสังคมของประเทศต่าง ๆ เพื่อระบุว่าแต่ละประเทศมีความสามารถในการรับมือกับผลกระทบทางระบบนิเวศในอนาคตหรือไม่ โดยพบว่ามีประชากรมากกว่า 1 พันล้านคนที่อาศัยอยู่ในประเทศที่มีแนวโน้มว่าจะไม่สามารถบรรเทาและรับมือกับภัยคุกคามทางระบบนิเวศที่เกิดขึ้นใหม่ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการย้ายถิ่นขนานใหญ่ภายในปี 2593
ประเทศที่มีความเสี่ยงเกิดการย้ายถิ่นขนานใหญ่มากที่สุดคือปากีสถาน ตามมาด้วยเอธิโอเปียและอิหร่าน ส่วนเฮติเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูงสุดในภูมิภาคอเมริกากลาง สำหรับประเทศเหล่านี้ ภัยคุกคามทางระบบนิเวศและภัยธรรมชาติเพียงเล็กน้อยก็สามารถก่อให้เกิดการย้ายถิ่นขนานใหญ่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในภูมิภาคและทั่วโลก
แม้แต่ภูมิภาคที่มีความสามารถในการฟื้นตัวสูง เช่น ยุโรปและอเมริกาเหนือ ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงผลกระทบในวงกว้างจากภัยคุกคามทางระบบนิเวศ เช่น จำนวนผู้ลี้ภัยที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ยกตัวอย่างวิกฤตผู้ลี้ภัยในยุโรปอันเป็นผลมาจากสงครามซีเรียและอิรักในปี 2558 ซึ่งส่งผลให้มีผู้ลี้ภัยเข้ายุโรปกว่า 2 ล้านคน และตอกย้ำถึงความเชื่อมโยงระหว่างการเคลื่อนย้ายประชากรอย่างรวดเร็วกับความวุ่นวายทางการเมืองและความไม่สงบทางสังคม
อย่างไรก็ตาม ยุโรป สหรัฐอเมริกา และประเทศพัฒนาแล้วอีกหลายประเทศ ก็เผชิญกับภัยคุกคามทางระบบนิเวศน้อยกว่า และมีความสามารถในการฟื้นตัวสูงกว่าในการรับมือกับความเสี่ยงเหล่านี้ สำหรับประเทศพัฒนาแล้วที่ตอนนี้ไม่เผชิญกับภัยคุกคามทางระบบนิเวศประกอบด้วยสวีเดน นอร์เวย์ ไอร์แลนด์ และไอซ์แลนด์ ส่วนประเทศทั้งหมดที่ตอนนี้ไม่เผชิญกับภัยคุกคามทางระบบนิเวศมีอยู่ 16 ประเทศ
สตีฟ คิลเลเลีย ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารสถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ กล่าวว่า
“ภัยคุกคามทางระบบนิเวศและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคือความท้าทายอันใหญ่หลวงต่อความสงบสุขของโลก ในช่วงเวลา 30 ปีข้างหน้า การขาดแคลนน้ำและอาหารจะทวีความรุนแรงขึ้นหากทั่วโลกไม่ร่วมมือกันอย่างเร่งด่วน โดยหากไม่ลงมือแก้ปัญหา ความไม่สงบ ความวุ่นวาย และความขัดแย้งก็จะเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน และในตอนนี้การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ก่อให้เกิดช่องว่างในห่วงโซ่อาหารทั่วโลกแล้ว”
หลายประเทศที่เสี่ยงเผชิญกับภัยคุกคามทางระบบนิเวศมากที่สุดก็มีแนวโน้มว่าจะมีประชากรเพิ่มขึ้นมากที่สุดเช่นกัน เช่น ไนจีเรีย แองโกลา บูร์กินาฟาโซ และยูกันดา โดยประเทศเหล่านี้ต้องดิ้นรนแก้ปัญหาทางระบบนิเวศอยู่แล้ว ทั้งยังเผชิญกับการขาดแคลนทรัพยากร ความสงบสุขในระดับต่ำ และความยากจนในระดับสูง
สตีฟ คิลเลเลีย กล่าวเสริมว่า
“สิ่งนี้จะก่อให้เกิดผลกระทบทางสังคมและการเมืองอย่างใหญ่หลวง ไม่ใช่แค่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเท่านั้น แต่รวมไปถึงประเทศพัฒนาแล้ว เนื่องจากการย้ายถิ่นขนานใหญ่จะทำให้ผู้ลี้ภัยจำนวนมากไหลบ่าสู่ประเทศพัฒนาแล้วมากยิ่งกว่าเดิม การเปลี่ยนแปลงทางระบบนิเวศคือภัยคุกคามสำคัญของโลกและประชากรโลก เราต้องปลดล็อกพลังของภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการฟื้นตัวให้กับประเทศที่มีความเสี่ยงสูงสุด”
ความไม่มั่นคงทางอาหาร
ความต้องการอาหารทั่วโลกคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 50% ภายในปี 2593 นั่นหมายความว่าหากอุปทานอาหารไม่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ประชากรโลกจำนวนมากก็เสี่ยงเผชิญกับความหิวโหย ปัจจุบัน ประชากรโลกกว่า 2 พันล้านคนกำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนในการเข้าถึงอาหารอย่างเพียงพอ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 3.5 พันล้านคนภายในปี 2593 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการฟื้นตัวของทั่วโลก
5 ประเทศที่มีความไม่มั่นคงทางอาหารมากที่สุดประกอบด้วยเซียร์ราลีโอน ไลบีเรีย ไนเจอร์ มาลาวี และเลโซโท โดยประชากรเกินครึ่งหนึ่งเผชิญกับความไม่แน่นอนในการเข้าถึงอาหารอย่างเพียงพอต่อการมีสุขภาพดี ขณะเดียวกัน โควิด-19 ก็ทำให้สถานการณ์ความไม่มั่นคงทางอาหารย่ำแย่ลง และทำให้อาหารมีราคาแพงขึ้นมาก ซึ่งตอกย้ำถึงความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางระบบนิเวศในอนาคต
แม้ในประเทศที่มีรายได้สูงก็ยังพบประชากรขาดสารอาหารในระดับสูงถึง 2.7% ซึ่งหมายความว่าประชากร 1 ใน 37 คนไม่ได้รับอาหารเพียงพอต่อการทำงานตามปกติของร่างกาย การขาดสารอาหารในประเทศพัฒนาแล้วเป็นผลพวงมาจากความยากจน โดยโคลอมเบีย สโลวาเกีย และเม็กซิโก เป็นประเทศที่มีอัตราการขาดสารอาหารสูงสุดในกลุ่ม OECD
ความเครียดเนื่องจากน้ำ
ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา เหตุการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับน้ำพุ่งขึ้น 270% ทั่วโลก โดยนับตั้งแต่ปี 2543 เหตุการณ์ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในเยเมนและอิรัก ซึ่งตอกย้ำถึงความเชื่อมโยงระหว่างความเครียดเนื่องจากน้ำอย่างรุนแรง ความสามารถในการฟื้นตัว และความสงบสุข เนื่องจากประเทศเหล่านี้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความสงบสุขน้อยที่สุดเมื่อวัดโดยดัชนีสันติภาพโลกประจำปี 2563